แกนนำก้าวไกล รวมตัว หารือก่อนโหวตนายกฯ รอบ 3 วันที่ 4 ส.ค.นี้ "อมรรัตน์" บอกจะยกมือโหวตให้เพื่อไทย ขอดู MOU นอกจาก ม.112 สามารถทำข้อไหนได้บ้าง "ณัฐชา" ชี้ม็อบจะมีหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่พรรคก้าวไกล แต่อยู่ที่ประชาชน 

วันที่ 1 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าการนัดประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยจะมีขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ ที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเป็นการหารือครั้งสุดท้าย ก่อนโหวตนายกรัฐมนตรี 4 สิงหาคม 2566

ความคืบหน้าล่าสุด ที่ จ.ราชบุรี แกนนำพรรคก้าวไกลคนสำคัญอย่าง พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ, นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล, นางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล, นายสุเทพ อู่อ้น, นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ และสมาชิกพรรคส่วนหนึ่ง ได้มาร่วมพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการถึงจุดยืนของพรรค ก่อนจะโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

...

โดย นางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรค เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ณ เวลานี้ทางพรรคก้าวไกลยังไม่ได้รับการติดต่อ หรือสัญญาณใดๆ จากพรรคเพื่อไทยให้เข้าร่วมประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ ในทางกลับกันทางพรรคได้รับทราบข่าวดังกล่าวจากทางสื่อมวลชน

อย่างไรก็ตาม การที่พรรคก้าวไกลจะได้เป็นฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ ยังไม่สะเทือนใจมากไปกว่า ความผิดหวังที่พี่น้องประชาชนตั้งคำถามว่า “สรุปแล้วเราเลือกตั้งไปทำไม” เป็นความเสียใจ เสียเวลา เสียความรู้สึก เป็นบรรยากาศของความหดหู่สิ้นหวัง

การจะยกมือโหวตให้พรรคเพื่อไทย ก็ต้องดูความชัดเจนก่อนว่า ข้อตกลงใน MOU ที่ทำร่วมกันทั้ง 23 ข้อ อาทิ ปฏิรูปกองทัพ กระจายอำนาจ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ทลายทุนผูกขาด ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่มีนอกเหนือจากมาตรา 112 แล้ว พรรคร่วมจะสามารถให้สัญญากับพรรคก้าวไกลได้หรือไม่ว่า จะยังดำเนินการอยู่ ต้องระบุให้ชัดเจนว่า จะฉีกข้อไหน และทำข้อไหนได้บ้าง

ในวันนี้ทางพรรคสูญเสียตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานสภาไปแล้ว หากจะต้องสูญเสียการเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล ถูกฉีก MOU ทั้งหมด แล้วจะยกมือโหวตให้ได้อย่างไร เราจะโง่ขนาดนั้นเลยหรือ?

ด้าน นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองเลขาธิการพรรค เปิดเผยว่า วันนี้เราได้มอบหมายให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยได้เดินหน้าหาเสียงจากพรรคอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่พรรคเพื่อไทยไปพูดคุยกันออกมาผ่านสื่อต่างๆ แต่ทั้ง 7 พรรคร่วมก่อนหน้านี้ไม่ได้ทราบข้อมูลด้วย

ดังนั้นพรรคเพื่อไทยควรนำเรื่องที่ไปรวบรวมมาพูดคุยกันบนโต๊ะกับ 8 พรรคร่วม เพื่อให้แต่ละพรรคตัดสินใจร่วมกันว่า จะเดินต่อไปกันอย่างไร การจะให้พรรคก้าวไกลร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ควรหยิบยกขึ้นมาพูดคุยและให้ประชาชนรับทราบ ทางพรรคไม่ติดขัดว่าไปทางไหน พร้อมที่จะทำงาน แต่ขอให้มีความชัดเจน

ซึ่งสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารก็คือ 8 พรรค 312 เสียง เป็นเสียงข้างมากที่สง่างามที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น หากทั้งหมดจับมือกันแน่น ไม่แอบไปเจรจาต่อรองกับใคร 312 เสียง จะสามารถผนึกกำลังจะตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า ก่อนเลือกตั้งทุกพรรคมองว่า สว. คือปัญหา แต่หลังเลือกตั้งแต่ละพรรคกลับมีมุมมองที่เปลี่ยนไป จึงทำให้การจัดตั้งรัฐบาลผิดทิศผิดทางไปหมด ทั้งนี้ตนเชื่อว่า ถ้าทุกพรรคยังจัดรัฐบาลตามเสียงสนับสนุนของพี่น้องประชาชน ถ้า สว. ไม่เอาด้วย แรงกดดันทั้งหมดจะอยู่ที่ สว. และประชาชนก็จะรับรู้ว่า สว. คือแรงฉุดรั้งของการจัดตั้งรัฐบาล

โดยผู้สื่อข่าวได้ถามว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยตั้งเงื่อนไขให้พรรคก้าวไกลถอยเรื่อง มาตรา 112 ในประเด็นนี้ นายณัฐชา เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวตนไม่สามารถตอบได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของตน ขอให้พรรคเพื่อไทยเสนอมาให้ชัดเจนว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้าง รวมถึงมาตรา 112 ซึ่งทางพรรคจะได้นำไปพูดคุยกันว่าจะทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ทางพรรคก็ต้องยอมถอย และพร้อมที่จะโหวตให้ เพราะทางพรรคไม่สามารถทำตามเงื่อนไขได้เอง

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ถามต่อว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนี้จะนำมาสู่การชุมนุมของประชาชนหรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า ทุกวันนี้ประชาชนต่างเฝ้าคอยว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา จะนำพาไปสู่การแก้ปัญหาที่สะสมมานาน หลังจากการยึดอำนาจตั้งแต่ปี 57 ประชาชนต้องการที่เข้าไปเดินในเกมในกฎกติกา แต่เมื่อเราชนะแล้ว กลับไม่ยอมรับกติกาที่สร้างขึ้นมาเอง แล้วผลักไสไล่ส่งให้ผู้ชนะเป็นผู้แพ้ ดังนั้นตนเชื่อว่า หากมีการชุมนุมเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากพรรคก้าวไกล แต่เกิดจากแรงกดดันและรับไม่ได้ของประชาชนเองมากกว่า