ส.ว.มณเฑียร บุญตัน ย้ำจุดยืน โหวตนายกฯ เสียงข้างมาก มองเสียงต่างเป็นเรื่องธรรมดา ขณะที่ ส.ว.อำพล จินดาวัฒนะ ยัน โหวตนายกฯ เสียงข้างมาก เหมือนตอนเลือก "ประยุทธ์" เมื่อปี 2562 

เข้าใกล้วันโหวตนายกรัฐมนตรีเข้าไปทุกที  ก็เริ่มมีสมาชิกวุฒิสภาหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหว แสดงจุดยืนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า จะยึดตามหลักการ คือ โหวตให้เสียงข้างมาก

นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา ยืนยันว่า หลังจากตัวเองได้ประกาศตัวว่า จะโหวตนายกรัฐมนตรีให้กับฝ่ายที่ได้รับเสียงข้างมาก ก็ยังไม่มีฟีดแบ็กอะไรจาก ส.ว.คนอื่นๆ และส่วนตัวก็เชื่อว่า ส.ว.ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ส่วนความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ละคนก็พยายามจะโน้มน้าว เพื่อชี้ให้เห็นว่า จุดยืนของตนเป็นความคิดที่ดี มีน้ำหนัก

ส่วนแนวโน้มเสียงของ ส.ว. ขณะนี้เอนเอียงไปทิศทางไหน ตนไม่ทราบ เพราะว่าคนที่ออกมาแสดงพูดหรือแสดงความคิดเห็น มีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของ ส.ว. ทั้งหมด ซึ่งจริงๆ แล้วตนไม่ได้ต้องการจะให้ความเห็น แต่อาจมีสื่อมวลชนจำได้ว่า ตนเคยให้ความเห็น ไว้ในช่วงหลังวันเลือกตั้ง ก็เลยติดตาม และจริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ เป็นจุดยืนเดิมก่อนการเลือกตั้งแล้ว

เมื่อถามถึงกรณีที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา ออกมาเปิดเผยว่า มีการแจกกล้วยให้กับ ส.ว. นายมณเฑียร บอกว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ ต้องไปถามคนแจก และคนรับแจก แต่ยืนยันว่าไม่มีใครมาแจกตนแน่นอน เพราะรู้ว่า ตนเป็นคนยังไง ถ้าตนรับ คนคงรู้ทั้งเมือง

ส่วนหากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ถึง 376 เสียง ในครั้งแรก มองว่า ควรจะมีการโหวตอีกครั้ง หรือกี่ครั้ง หรือไม่ นายมณเฑียร กล่าวว่า ต้องแล้วแต่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีอำนาจดำเนินการได้ เพราะรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะลงคะแนนได้กี่ครั้ง มองว่า เป็นเรื่องธรรมดา ที่พอรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน ก็มีความเห็นต่างๆ นานา

...

ด้านของนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ก็ยืนยันว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ยึดตามหลักการ โดยเตรียมโหวตให้คนที่พรรคการเมืองรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อ เพื่อให้เข้าไปเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากบริหารประเทศต่อไป ซึ่งหลักการนี้ตนได้ใช้ไปเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 คือ โหวตเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากการรวมเสียงขณะนั้น ฝั่ง พลเอกประยุทธ์ มีเสียงข้างมาก

นายแพทย์อำพล ยังย้ำว่า ส่วนตัวไม่ได้อยากใช้อำนาจตามบทเฉพาะกาล แต่เมื่อหน้าที่นี้ยังมีอยู่ ก็จำเป็นต้องทำหน้าที่ต่อไป เพื่อให้กลไกและกติกาตามใช้อยู่เดินหน้าไปได้ ซึ่งที่เหลือก็คือหน้าที่ของบรรดาพรรคการเมืองในการรวบรวมเสียง

ส่วนผลการโหวตจะเป็นอย่างไร มองว่าเป็นเรื่องของกระบวนการโหวตในขณะนั้น และส่วนตัวก็ไม่ได้มีหน้าที่ในการจะต้องไปหาเหตุผลว่า บุคคลใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในการเป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนการแสดงออกจาก ส.ว.บางคนก็ถือเป็นมุมมองที่เป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัวและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ และจะไม่ขอก้าวล่วงความคิดของใคร แต่ส่วนตัวยังคงยืนยันคำเดิมว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ก็จะใช้หลักการเดียวกับปี 2562

อย่างไรก็ตาม นายอำพล ยังยืนยันว่า ส.ว. ไม่ควรมีหน้าที่และอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง ควรเป็นหน้าที่และอำนาจของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเท่านั้น และทุกครั้งที่มีการขอแก้ไข ส่วนตัวจึงโหวตเห็นด้วยให้ปิดสวิตช์ ส.ว.