“อลงกรณ์” เผย ยังเป็นคนเดียวที่ประกาศตัวชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ มอง เป็นเรื่องดี “เอ้ สุชัชวีร์” ถูกทาบทามให้ลงแข่ง มอง ผู้นำต้องมีประสบการณ์ เพราะทำงานในวิกฤติที่กำลังถดถอย 

วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรค และผู้สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยรัฐทีวี ถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคมนี้ ซึ่งนายอลงกรณ์ เป็นคนแรกที่ลงชื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 

ในเรื่องสิ่งที่เป็นห่วงที่สุดกับการเลือกหัวหน้าพรรคในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ นายอลงกรณ์ ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เหมือนในอดีต เพราะการประกาศเพื่อเข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคค่อนข้างเงียบเหงา หลายคนอาจจะยังอยู่ในภาวะอาฟเตอร์ช็อกหลังจากแพ้การเลือกตั้ง ที่ถือเป็นการเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงน้อยที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ย่อมกระทบกระเทือนจิตใจของหลายคน ตนเองหวังว่าภายใต้วิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ และจิตวิญญาณของพรรคประชาธิปัตย์จะฟื้นกลับมา ท้อถอยได้ แต่แพ้ไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ต้องไม่มีวันตาย

“ผมได้ประกาศลงสมัครในตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มา 2 สัปดาห์แล้ว และหวังว่าเวลาที่เหลืออยู่จะมีคนประกาศตัวเพื่อลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพิ่มขึ้น เพราะตำแหน่งดังกล่าวมีความสำคัญ จะทำให้สมาชิกพรรคได้ทราบถึงจุดยืนและนโยบายของผู้เข้าชิงตำแหน่งนี้แต่ละคน”

สำหรับคุณสมบัติของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ถือเป็นการตั้งโจทย์ที่สำคัญว่าพรรคต้องการผู้นำแบบไหนในสถานการณ์ที่พรรคอยู่ในภาวะถดถอย และแสวงหาจุดยืนที่จะนำพาพรรคให้มาเป็นพรรคการเมืองหลักของประเทศ ซึ่งผู้นำคนใหม่จะต้องมีจุดยืนชัดเจนในความเป็นประชาธิปไตย พร้อมจะระดมพลังทั้งของคนรุ่นใหม่ รุ่นเก่าและกลุ่มต่างๆ ในพรรค ให้สามารถมีความเป็นเอกภาพ เกิดพลังของการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูป ซึ่งผู้นำต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ เพราะเป็นการทำงานในภาวะวิกฤติที่กำลังถดถอย 

...

ส่วนที่มีกระแสว่า นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถูกทาบทามให้ลงแข่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายอลงกรณ์ เผยว่า ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องดี เนื่องจาก นายสุชัชวีร์ เป็นนักบริหารรุ่นใหม่ที่เข้าสู่การเมือง และลงสมัครในนามพรรคในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถือเป็นอีกทางเลือกที่มีความน่าสนใจ จะได้เห็นโอกาสที่จะเห็นคนมาสมัครเพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพิ่มขึ้น เพราะตัวเองคงไม่ใช่ผู้สมัครคนเดียวแน่นอน 

นอกจากนี้ ในประเด็นที่เริ่มมีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยที่จะให้ยกเว้นข้อบังคับให้คนที่มีคุณสมบัติไม่ครบลงสมัครเลือกตั้งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ได้ นายอลงกรณ์ คิดว่า การมีข้อบังคับและการยกเว้นข้อบังคับ ซึ่งก็ยังอยู่ในข้อบังคับ สามารถกระทำได้ต้องขึ้นอยู่กับว่าที่ประชุมใหญ่ของพรรคและกรรมการบริหารพรรคจะมีความคิดเห็นอย่างไร อะไรที่สามารถเปิดกว้างให้มีคนแข่งขันกันมากก็ถือเป็นโอกาสที่ดี 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการยกเว้นข้อบังคับหลายครั้ง ในเรื่องการให้คนที่เข้ามาใหม่ได้เข้ามามีส่วนในการบริหาร และส่วนตัวคิดว่ากรรมการบริหารคนใหม่ควรจะมีทั้งผู้หญิง ตัวแทนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งตัวแทนคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมบริหารพรรค ดังนั้น การที่เคยมีการยกเว้นให้คนใหม่ๆ ได้เข้ามาแข่งขันในการบริหารพรรค จึงเป็นประชาธิปไตยในพรรคซึ่งตัวเองไม่ขัดข้อง

ผู้สื่อข่าวถามต่อไป เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้สมาชิกพรรคทุกคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน ในการโหวตเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค นายอลงกรณ์ ระบุว่าตัวเองเคารพกติกาและข้อบังคับ ตราบใดที่ยังมีการใช้ข้อบังคับก็คงต้องเป็นไปอย่างนั้น เท่ากับว่าการยกเว้นข้อบังคับก็สามารถทำได้ หากส่วนใหญ่เห็นว่าควรให้มีการยกเว้นในการไม่ใช้ข้อบังคับเดิม ซึ่งข้อบังคับเดิมก็ไม่ใช่แบบ 1 สิทธิ์ 1 เสียง เพราะถ้าใช้ 1 สิทธิ์ 1 เสียง ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกมากที่สุดในประเทศไทย มีมากถึงหลักแสนคน ถ้าใช้ระบบ 1 สิทธิ์ 1 เสียงแล้วจะโหวตกันได้อย่างไร อาจจะต้องมีการนำระบบเลือกตั้งมาใช้ 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการจัดระบบโดยการแบ่งออกเป็น 19 กลุ่ม มีทั้งกลุ่ม ส.ส. และสมาชิกจากสาขาตัวแทนต่างๆ ทั้งอดีตหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรคท้องถิ่น ถือเป็นโหวตเตอร์ที่เป็นตัวแทนได้อย่างครบถ้วน และมาโหวตว่าใครควรจะมีน้ำหนักอย่างไร โดยในอดีตได้แบ่งการโหวตออกเป็น 50 ต่อ 50 แต่ยังไม่มีแบบ 1 ต่อ 1