“วราวุธ” แจ้งเอฟซีช้างคลายกังวล จ่อส่งทีมแพทย์ และ “กัญจนา” บินศรีลังกา ลงนามความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ในการดูแลรักษาช้าง หลังคนไทยกังวล “พลายประตูผา-พลายศรีณรงค์”
วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ขณะนี้กลุ่มแฟนคลับช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ และบรรดาคนรักช้าง มีความห่วงใยช้างอีก 2 เชือกของไทย ที่ยังอยู่ที่ประเทศศรีลังกา และมีการสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมากถึงความเป็นไปได้ที่จะนำกลับมาประเทศไทยหรือไม่ ว่า ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้นิ่งนอนใจ จะส่งทีมสัตวแพทย์ไปพร้อมกับ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในต้นเดือนกันยายน 2566 เพื่อให้ดูแนวทางความร่วมมือการทำงานระหว่างหน่วยงานของไทย และหน่วยงานของศรีลังกา ในการถ่ายทอดความรู้ เทคนิคเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลช้าง เพราะศรีลังกาเป็นประเทศที่มีช้างเลี้ยงและช้างป่าอยู่จำนวนมาก
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า สอดคล้องกับการที่มีคณะสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเมืองที่ช้างพลายประตูผา อยู่ ได้ติดต่อมายังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแสดงเจตจำนงว่ามีความพร้อมที่จะช่วยดูแล และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง ดังนั้นจากนี้ไปการทำงานด้านสุขภาพช้างระหว่างไทยกับศรีลังกาจะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น
สำหรับประเด็นของพลายประตูผา นายวราวุธ ระบุว่า เป็นเรื่องที่แตกต่างจากพลายศักดิ์สุรินทร์ เพราะพลายศักดิ์สุรินทร์ อายุเพียง 30 ปี ยังหนุ่ม ขณะที่พลายประตูผา อายุเกือบ 50 ปีแล้ว สัตวแพทย์มีความเห็นว่าการเคลื่อนย้ายพลายประตูผาข้ามประเทศมีความเสี่ยงและเป็นอันตรายกับตัวช้างเอง
...

“ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือให้พลายประตูผาได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ด้วยการทำโครงการความร่วมมือกันระหว่างไทยกับศรีลังกา ในการแลกเปลี่ยนความรู้ บุคลากร เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง ซึ่งการทำเช่นนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาการดูแลช้างในระยะยาวในประเทศศรีลังกาได้ และเชื่อว่าจะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยคลายความห่วงกังวลต่อช้างไทยที่ยังอยู่ในศรีลังกาได้”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุต่อไปว่า โครงการแลกเปลี่ยนดังกล่าวอาจมีการทำ MOU ขึ้น ซึ่งต้องให้กรมอุทยานฯ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เป็นผู้ลงนามร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศศรีลังกา เพื่อทำความตกลงแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลช้าง ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้การดูแลช้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และต่อเนื่องยาวนาน
“ส่วนพลายศรีณรงค์ จากการที่ น.ส.กัญจนา ไปเยี่ยมมาด้วยตัวเอง ยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพปกติดี และการเดินทางไปศรีลังกาในต้นเดือนกันยายนนี้ น.ส.กัญจนา ก็จะไปเยี่ยมพลายศรีณรงค์อีกครั้ง”

นอกจากนี้ นายวราวุธ ยังมีการรายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ ถึงกรณีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นที่ปลื้มปีติของพวกเราชาวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีมงานทุกคน และปวงชนชาวไทย และต้องขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่อนุมัติ และช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงจนทุกอย่างราบรื่น
อย่างไรก็ตาม นายวราวุธ ยังได้รายงานนายกรัฐมนตรีด้วยว่า การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้พระบรมราชานุเคราะห์เช่นนี้ ทำให้ความกังวลเรื่องที่จะต้องส่งพลายศักดิ์สุรินทร์กลับศรีลังกาหรือไม่นั้น หายไป ส่วนทีมแพทย์ก็จะรักษาอาการบาดเจ็บของพลายศักดิ์สุรินทร์อย่างเต็มที่.