“บิ๊กตู่” ลงนามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ. 2566 ระบุกรอบแห่งการประพฤติปฏิบัติ 12 ข้อ เพื่อให้มีความประพฤติดี สำนึกในหน้าที่ มีคุณธรรมและจริยธรรม เตรียมใช้บังคับเมื่อพ้น 60 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ. 2566 ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ ให้ไว้ ณ วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 มีเนื้อหาว่า
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 (1) และ (2) ประกอบกับมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และมติ ก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2566 ก.ตร. จึงออกกฎ ก.ตร. ไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กฎ ก.ตร. นี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 2 ให้ยกเสิก
(1) กฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ. 2551
(2) กฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553
ข้อ 3 ให้ใช้กฎ ก.ตร. นี้ เป็นกรอบแห่งการประพฤติปฏิบัติของข้าราชการตำรวจ ดังนี้
(1) ข้าราชการตำรวจพึงยึดถือคุณธรรม จริยธรรม และอุดมคติของตำรวจ เป็นแนวทางการประพฤติตนและปฏิบัติหน้าที่เพื่อบรรลุถึงปณิธานของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ อุทิศตนให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ มีความภาคภูมิใจในวิชาชีพตำรวจและกล้ายืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เพื่อเกียรติศักดิ์และศักดิ์ศรีของความเป็นตำรวจ
(2) ข้าราชการตำรวจพึงหลีกเลี่ยง และละเว้นจากอบายมุขทั้งปวง หรือกระทำการอื่นใดที่อาจนำไปสู่ความเสื่อมเสียต่อตนเอง ครอบครัว และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
...
(3) ข้าราชการตำรวจพึงวางตนให้เหมาะสม และครองตนอย่างพอเพียงสมฐานานุรูป
(4) ข้าราชการตำรวจพึงใฝ่หาความรู้ เพิ่มพูนความรู้ และทักษะในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ
(5) ข้าราชการตำรวจต้องยึดถือและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัด และยืนหยัดเจตนารมณ์ในการรักษากฎหมายให้ถึงที่สุด
(6) ข้าราชการตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ รวมทั้งไม่ใช้ตำแหน่ง อำนาจหรือหน้าที่ หรือยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่ง อำนาจหรือหน้าที่ของตน แสวงหาประโยชน์สำหรับตนองหรือผู้อื่น หรือใช้ไปในทางจูงใจ หรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ การใช้ดุลพินิจอันเป็นผลให้สูญเสียความยุติธรรม
(7) ข้าราชการตำรวจต้องรักษาความลับของทางราชการ และความลับที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือจากประชาชนผู้มาติดต่อราชการ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรม หรือการตรวจสอบตามที่กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ กำหนด
(8) ข้าราชการตำรวจต้องถนอมรักษาทรัพย์สินของทางราชการให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย และสามารถใช้การได้ตลอดเวลา โดยระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายหรือสิ้นเปลืองเยี่ยงวิญญูชนจะพึงปฏิบัติต่อทรัพย์สินของตนเอง
(9) ข้าราชการตำรวจต้องตระหนักว่าการใช้อาวุธ กำลัง หรือความรุนแรง เป็นมาตรการที่รุนแรงที่สุด โดยอาจใช้อาวุธ กำลัง หรือความรุนแรงได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นภายใต้กรอบของกฎหมายและระเบียบแบบแผน
(10) ในการรวบรวมพยานหลักฐาน การสืบสวนสอบสวน การสอบปากคำ หรือการซักถามผู้กระทำความผิด ผู้ต้องหา ผู้ที่อยู่ในความควบคุมตามกฎหมาย ผู้เสียหาย ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ หรือบุคคลอื่น ข้าราชการตำรวจต้องแสดงความเป็นมืออาชีพโดยใช้ความรู้ความสามารถตามหลักวิชาการตำรวจ รวมทั้งใช้ปฏิภาณไหวพริบและสติปัญญาอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงอันธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และไม่ใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน
(11) ข้าราชการตำรวจต้องอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ และใช้กิริยาวาจาที่สุภาพอ่อนโยน เพื่อให้ประชาชนมีความเลื่อมใส เชื่อมั่นและศรัทธา
(12) ข้าราชการตำรวจซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ดูแลเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งในด้านการปฏิบัติงาน ขวัญกำลังใจ และสวัสดิการ ตลอดจนปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยหลักการและเหตุผลและเป็นไปตามระบบคุณธรรม ข้าราชการตำรวจต้องเคารพเชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมาย รักษาวินัยและความสามัคคีในหมู่คณะ และพึงปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานด้วยความสุภาพ มีน้ำใจ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งร่วมแรงร่วมใจในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมประเทศชาติ และประชาชน
ข้อ 4 การจัดทำแนวทางการปฏิบัติตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยจรรยาบรรณของตำรวจนี้ ให้เป็นไปตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด
ข้อ 5 ข้าราชการตำรวจซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยวิชาชีพใดซึ่งมีการกำหนดจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้นไว้เป็นการเฉพาะ ต้องถือปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพนั้นด้วย
ข้อ 6 การใดที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่กฎ ก.ตร. นี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายมีการระบุหมายเหตุถึงเหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.ตร. ฉบับนี้ คือ โดยที่ข้าราชการตำรวจมีหน้าที่และความรับผิดชอบสำคัญในการรักษาความปลอดภัย สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของราชอาณาจักร รวมทั้งการให้บริการแก่ประชาชน ดังนั้น เพื่อให้ข้าราชการตำรวจมีความประพฤติดี สำนึกในหน้าที่ มีคุณธรรมและจริยธรรม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.ตร. นี้