นายนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้า ปชป. เตือนปม "ประชามติ" แยกดินแดน ขัด รัฐธรรมนูญ ชี้ สร้างเงื่อนไขการแก้ปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวั่น ความรุนแรงเพิ่ม
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2566 นายนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึง กรณีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดงานเปิดตัว "ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa)" ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ โดยในงานมีการกล่าวปาฐกถา หัวข้อ "การกำหนดอนาคตตัวเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี" และอ่านแถลงการณ์ของประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า การสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนปรารถนาให้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ที่เข้ามาบริหารประเทศก็ให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มที่ มีคณะกรรมการต่างๆ ทั้งหน่วยราชการ NGO ภาคเอกชน ต่างลงไปทำศึกษา ช่วยเหลือ ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การลดความรุนแรง เกิดความสงบสุข อีกทั้งยังกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร เป็นแหล่งผลิตสินค้าฮาลาล เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดโลกมุสลิม ซึ่งที่ผ่านมา มีการทุ่มงบประมาณเพื่อเข้าไปจัดการในพื้นที่หลายแสนล้านบาทตลอดระยะเวลา 20 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอที่พยายามขับเคลื่อนมาโดยตลอดเพื่อการแก้ไขปัญหานี้ ต้องน้อมนำแนวทางพระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" เพื่อสร้างความร่วมมือและรับรู้ร่วมกันทำให้ปัญหาที่หลายฝ่ายเรียกร้องได้ถูกแก้ไขได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการเดินตามยุทธศาสตร์ "สันติภาพสู่สันติสุข" คือ การทำให้เกิดสันติภาพ ยุติความขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องสนับสนุนให้มีการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ที่มีความเห็นที่ต่างกันอยู่ในพื้นที่ ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายสร้างการมีส่วนร่วมในทุกมิติที่มีผลกระทบต่อคนในพื้นที่ ถ้าหากไม่สามารถแก้เรื่องความเห็นต่าง หรือแก้เรื่องความขัดแย้งไม่ได้ ก็ยากที่จะนำสันติสุขมาสู่ชายแดนใต้ ซึ่งตนสนับสนุนการพูดคุยกับทุกกลุ่ม และเคยเดินทางไปพบปะพูดคุยกับระดับผู้นำของบางกลุ่มมาแล้ว ทั้งนี้ ตามที่เป็นข่าวในเรื่องของกลุ่มขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ที่ได้เปิดหัวข้อพูดคุย เรื่องการกำหนดอนาคตตัวเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานีนั้น ถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ละเอียดอ่อนและส่อขัดต่อรัฐธรรมนูญไทย และการเคลื่อนไหวเพื่อลงประชามติแบ่งแยกดินแดนดังกล่าวเป็นมุมมองที่ยึดรูปแบบของโครงสร้างเพียงอย่างเดียว คือ ต้องเป็นรูปแบบปกครองตนเองเป็นรัฐอิสระเท่านั้น จึงจะแก้ปัญหาได้ ในส่วนนี้เห็นว่า ไม่ถูกต้อง เพราะขาดความเชื่อมโยงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และตรงกันจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างด้วยความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม
...
"เมื่อปรากฏเป็นข่าวในบรรดาผู้ร่วมเวทีก็ต่างออกมาปฏิเสธ และเกิดการต่อต้านจากคนในพื้นที่ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความพร้อมเพื่อสื่อสารเรื่องดังกล่าวให้เกิดการรับรู้กับคนในพื้นที่และสาธารณะ โดยหลังจากนี้ อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ของกลุ่มสนับสนุนที่ต้องแสดงออกว่า มีเพียงการแบ่งแยกเท่านั้น จึงจะยุติปัญหาได้ ขณะเดียวกันการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่จะเกิดความหวาดระแวงกันมากขึ้น ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ จนอาจทำให้แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ที่มียาวนานนั้น ยิ่งแก้ไขได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้นไปอีก" นายนิพนธ์ กล่าว...