• คงไม่มีการต่อรองอะไรมาก โชคดีที่คนที่จะเข้าร่วมรัฐบาลก็เป็นฝ่ายประชาธิปไตยทั้งนั้น ตนเองจึงเห็นว่าตัวเนื้องานสำคัญกว่า แต่การได้คุมงานกระทรวงการต่างประเทศ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะสามารถกำหนดทิศทางนโยบายด้านความมั่นคงได้
  • เราทั้ง 2 ฝ่าย ก้าวไกลและพรรคเป็นธรรม เคยพูดคุยกันในภาคใต้ ว่าถ้าร่วมกันได้จะเป็นการดี สันติภาพในภาคใต้สงบแน่นอน
  • แก้ใต้รัฐบาลต้องจริงใจ ไม่ใช่แค่การทุ่มเม็ดเงินลงไป 5 แสนล้านบาท ขอเดินนโยบาย 2 ปีแรกวางเรื่องโครงสร้าง 2 ปี ถัดไปเดินตามโรดแมป ปัญหาชายแดนจะดีขึ้น

 

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

พรรคเป็นธรรม กลายเป็นที่สนใจขึ้นมาทันที เมื่อวงแถลงข่าวการประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เอ่ยปากว่าจะชวนมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย เพื่อให้ได้เสียง 309 เสียงในสภา ทั้งที่ 5 พรรคฝ่ายค้านเดิมก็สามารถเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากได้แล้ว

...

นายพิธา ให้เหตุผลว่า เห็นความตั้งใจในการทำงานเพื่อสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อลงพื้นที่ไปมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับแกนนำและผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งตรงกันในการกำหนดอนาคตพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อเรื่องการกระจายอำนาจเหมือนกัน เชื่อในเรื่องความมั่งคั่งทางอาหารมากกว่าความมั่นคงทางทหาร ให้พลเรือนนำทหารน่าจะเป็นคำตอบ ช่วยทำให้เสถียรภาพรัฐบาลและการแก้ไขเป็นรูปธรรมมากขึ้น ร่วมกับพรรคประชาชาติและทีมงานพรรคก้าวไกล

สำหรับพรรคเป็นธรรม เป็นพรรคใหม่ มีนายปิติพงศ์ เต็มเจริญ เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายกัณวีร์ สืบแสง เป็นเลขาธิการพรรค และเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 การเลือกตั้งครั้งนี้ ได้คะแนน 181,226 คะแนน ส่งผลให้ได้เก้าอี้ ส.ส. 1 ที่นั่ง นั่นคือนายกัณวีร์

นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1
นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1

นายกัณวีร์ สืบแสง ชื่อเล่น นล ปัจจุบันอายุ 46 ปี จบการศึกษา ระดับมัธยม จาก ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศและมานุษยวิทยา จาก University of Oregon เคยทำงาน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ปี 2546-2552 ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเตรียมพร้อม สำนักความมั่นคงกิจการชายแดนและการป้องกันประเทศ (จังหวัดชายแดนภาคใต้ การบริหารวิกฤตการณ์ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงชายแดน) 

นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานภาคสนามใน 8 ประเทศ เช่น ประเทศไทย (แม่ฮ่องสอน) เมียนมา บังกลาเทศ ซูดาน ฟิลิปปินส์ ฯลฯ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ปี 2552-2564 และเป็นประธานมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ

นายกัณวีร์ เปิดเผยกับ โต๊ะข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ ว่า จะมีการพูดคุยเพื่อร่วมรัฐบาลกับนายพิธา ในช่วงเย็นวันนี้ ที่มาของการชวนร่วมรัฐบาล เกิดจาก นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม ได้โทร. ไปแสดงความยินดีกับนายพิธา เมื่อได้พูดคุยกันก็ได้เห็นชอบด้วยในการร่วมรัฐบาล แต่ตนเองยังไม่ได้มีการพูดคุยเป็นทางการ โดยช่วงเย็นวันนี้นายปิติพงศ์จะพูดคุยกับนายพิธา โดยไม่ใช่การพูดคุยกับตนเอง แม้จะได้นั่งเก้าอี้ ส.ส.

นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม
นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม

แนวทางการทำงาน “พรรคเป็นธรรม-ก้าวไกล” จะเป็นอย่างไร

นายกัณวีร์ กล่าวว่า จริงๆ นโยบายการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ของพรรคก้าวไกลและพรรคเป็นธรรม มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องตัวนโยบาย คือ อยากสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน แต่ของพรรคจะเป็นแบบ comprehensive approach (แนวทางที่ครอบคลุม) แบ่งเป็น 3 ขาในการสร้างสันติภาพ ทั้งการยกระดับกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ เช่น การกำหนดพระราชกำหนดในการคุ้มครองฝ่ายเจรจาที่คุยกับฝั่งไทย และพระราชบัญญัติการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น และต้องยกเป็นวาระแห่งชาติให้ได้ เพราะกระบวนการพูดคุยตอนนี้เป็นแค่ฝั่งทหาร ข้าราชการ กับทางฝั่งเจรจา

ส่วนอีกขา คือ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่ต้องไม่จำกัดสิทธิและปิดกั้น และเรื่องกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่มีเหมือนกับทางพรรคก้าวไกลเช่นกัน และอีกขาคือการปฏิรูปโครงสร้างข้าราชการ ที่มีการลงลึกในรายละเอียด เช่น ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เพื่อให้จังหวัดจัดการตนเอง เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้โดยตรง

“ความคิด พูดตรงๆ คล้ายกัน แต่ของเรามีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เพราะเราใช้การศึกษา ส่วนตัว ผมเองก็ทำงาน การสร้างสันติภาพในเวทีระหว่างประเทศ ที่ไปทำที่ซูดานใต้ ซูดานเหนือมา ก็จะเอาหลักมนุษยธรรมนำ มันก็จะสามารถปรับใช้ได้จริงๆ ทั้งการพูดคุยต้องให้ฝ่ายการเมืองและภาคประชาสังคมพูดคุย ไม่ใช่เอาทหารกับทหารคุยกัน มันไม่สามารถสร้างสันติภาพได้ อันนี้เรามีการแลกเปลี่ยนกับก้าวไกลตลอดเวลา เราทั้ง 2 ฝ่าย เคยพูดคุยกันในภาคใต้ ว่าถ้าร่วมกันได้จะเป็นการดี สันติภาพในภาคใต้สงบแน่นอน”

รู้จักกันเป็นการส่วนตัวหรือไม่

นายกัณวีร์ ยอมรับรู้จัก นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกล ลำดับที่ 20 เป็นการส่วนตัว เพราะเป็นคนดูแลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคก้าวไกล ส่วนนายพิธา แค่ทักทายกันเฉยๆ แต่ไม่ได้คุยในรายละเอียด

ตอนนี้พรรคเป็นธรรม กำลังได้รับความสนใจ

จริงๆ แล้วเจอกันกับพรรคก้าวไกลในหลายเวที โดยเฉพาะเวทีต่างประเทศ ทั้งเรื่องจุดยืนทางการทูตของไทยในเวทีต่างประเทศ เรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งของพรรคเป็นธรรมเคยขึ้นเวทีหลายครั้งกับพรรคก้าวไกล

“คงเป็นประเด็นที่ทำให้พรรคก้าวไกล รู้สึกว่ามีพรรคการเมืองที่มุ่งเน้นด้านสิทธิมนุษยชน ในจุดเด่นทางด้านการทูตของไทยเหมือนกัน ซึ่งเป็นจุดยืนของพรรคเป็นธรรมและพรรคก้าวไกล ที่มีส่วนร่วมกัน”

 

แก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ต้องถึงจุดไหน ถึงจะแก้ได้

นายกัณวีร์ กล่าวว่า อย่างแรกรัฐบาลต้องจริงใจ ที่ผ่านมามีแต่การนำเม็ดเงินลงไป 5 แสนล้านบาท โดยภาครัฐมีความคิดว่าการนำเงินไปพัฒนาจะแก้ได้ดีที่สุดแต่ไม่มองถึงรากเหง้าปัญหา ที่ซับซ้อน มันเป็นการกดทับอัตลักษณ์ของพี่น้องคนในพื้นที่ ปาตานี (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และพื้นที่ 4 อำเภอในจ.สงขลา) รัฐราชการพยายามกดทับมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว และยังนำกฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง และกฎอัยการศึก ซึ่ง 3 กฎหมายนี้สามารถจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล ถือเป็นการลิดรอนสิทธิ จึงมีการต่อต้านจำนวนมาก และเสรีภาพคนในพื้นที่ก็ถูกตีกรอบ คนในพื้นที่จึงคิดว่ารัฐราชการเป็นศัตรู การแก้ไขปัญหาจึงไม่ตรงจุด เพราะรัฐไทยมองว่าการแก้ปัญหาคือทำให้คนเหมือนกัน แต่ของพรรคมองที่ความหลากหลาย เปิดโอกาสให้มีสิทธิเสรีภาพในการพูดคุย

“ตอนนี้ทุกคนโดน ม.113 ม.116 กันจำนวนมาก คล้ายเป็นแฟชั่นไปแล้ว พวกนักกิจกรรมออกมาใส่ชุดมลายูก็จะโดน ม.116 โดนเรื่องรวมกลุ่ม อั้งยี่ซ่องโจรบ้าง คนในพื้นที่จึงมองว่ารัฐไทยใช้เรื่องความมั่นคงไปมอง มันจึงเกิดการต่อต้าน เกิดประเด็นปัญหาเกิดขึ้น” นายกัณวีร์ กล่าว

พาทหารกลับบ้านคือทางออกความสงบ

พรรคเป็นธรรม มีนโยบายที่เสนอ 3 ขา โดยมีตัวชี้วัดคือพาทหารกลับบ้าน ทำให้ทหารและคนพื้นที่ตื่นตัว เมื่อไหร่ที่ด่านกว่าหมื่นจุดหมดไป เมื่อนั้นถึงจะสงบ โดยจะต้องมีการสร้างสันติภาพและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วย คือตอนนี้มันผิดฝาผิดตัวไปหมด ที่เอาทหารมาคุยกันเองก็ไม่สามารถสร้างสันติภาพได้ จึงต้องเอาประชาชนที่มีปัญหามานั่งคุยเพื่อให้เป็นตัวนำถึงจะถูกต้อง

“การพูดคุยระหว่างไทยและมาเลย์ ตนเองต่อต้าน เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน มันต้องเอากลางมาพูดคุย ที่มันยังไม่ไปสู่สากลได้ เพราะรัฐไทยพยายามบอกว่าปัญหาชายแดนภาคใต้มันเป็นแค่ปัญหาในพื้นที่ ไม่ต้องยกระดับไปสู่สากล อย่าให้คนไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง มันเลยเกิดการยิงกันอย่างเดียว มันก็เลยผิด เราเลยเสนอว่าเสรีภาพในการแสดงออกมันต้องมี”

4 ปี ในการร่วมรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาใต้เพียงพอไหม

เพียงพอสำหรับการสร้างกระบวนการให้สามารถเดินต่อไปได้ การแก้ไขตรงนี้ต้องใช้การเปลี่ยนความคิดประชาชนทั้งหมดด้วย ทำอะไรถ้าทำโครสร้างให้ถูกต้อง ภายใน 2 ปีโครงสร้างก็จะถูกต้องตาม

โดย 2 ปีแรก พรรควางโครงสร้างภาคประชาสังคม เป็นตัวแทนประชาชนมานั่งพูดคุยจริงๆ รวมถึงการออกพระราชกฤษฎีกา และพระราชบัญญัติในการสร้างสันติภาพ เพราะฉะนั้น 2 ปีแรกจะเป็นการสร้างโครงสร้าง สร้างความเข้าใจคนในพื้นที่ คู่ฝ่ายเจรจา ทำความเข้าใจให้กับประเทศไทยว่ามันต้องยกระดับไปเป็นวาระแห่งชาติ และรัฐสภาจำเป็นจะต้องเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ไม่ใช่ให้ฝ่ายทหารในพื้นที่เท่านั้น

“พอโครงสร้างเสร็จ 2 ปีถัดไปก็จะเป็นการเดินตามโรดแมปตามที่เราทำไว้ ซึ่งภายใน 4 ปี เราจะเห็นสถานการณ์ดีขึ้น ประชาชนจะมีส่วนร่วมเจรจา กำหนดทิศทางการแก้ปัญหา 4 ปี จะเห็นดอก ผล แต่ไม่ว่าประเทศไหนมันต้องใช้เวลาเกิน 4 ปี แน่นอน อย่างซูดานใต้ที่ผมไปอยู่ก็ใช้เวลา 10 ปี”

มองตำแหน่งทางการเมืองไว้อย่างไร

คงไม่มีการต่อรองอะไรมาก โชคดีที่เห็นว่าคนที่จะเข้าร่วมรัฐบาลก็เป็นฝ่ายประชาธิปไตยทั้งนั้น เพราะฉะนั้นตนเองเห็นว่าตัวเนื้องานสำคัญกว่า ว่าเราจะทำงานตรงไหนสำคัญที่สุด อย่างพรรคเป็นธรรม ถ้าเราเข้าไป สามารถพูดคุยเรื่องสันติภาพได้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน การทำงานด้านมนุษยธรรม และรวมถึงเรื่องการต่างประเทศ จะทำให้รัฐไทยเปลี่ยนจุดยืนได้ดี เพราะตอนนี้รัฐไทยแข็งตัว และเราจะพยายามเสนอตัวนโยบายต่างๆ ในการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล

ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพอมีหวังไหม

ยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่คงพูดคุยกัน อาจเข้าไปร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ หลักๆ มีกระทรวงการต่างประเทศ สำนักนายกรัฐมนตรี นี่ก็น่าสน เพราะคุมหน่วยงาน สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งเป็น 2 หน่วยงานที่น่าสนใจสำหรับพรรคเป็นธรรม เพราะตัวผมเองก็ทำงาน สมช. มาก่อน ตรงนี้จะสามารถกำหนดทิศทางนโยบายด้านความมั่นคงได้ รวมถึงนโยบายด้านการต่างประเทศทุกอย่างไปอยู่ตรงนั้น ส่วนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็น่าสนใจ สุดท้ายก็แล้วแต่ในเรื่องนี้ เพราะต้องคุยกัน แต่เราไม่ต่อรอง

 

ผู้เขียน : Supattra.l

กราฟิก : Chonticha Pinijrob