ไปรษณีย์ไทย แจงคัดแยก-ขนส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าถึง 400 เขตเลือกตั้งใน 13 พ.ค.นี้ พบซองบัตรเลือกตั้งตัวเลขรหัสจังหวัด-รหัสเขตอ่านยาก 15% ด้าน กกต. โต้ ไม่ใช่ 3 แสนซอง มีเพียง 10,000 ซองเศษ

วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เมื่อเวลา 16.00 น. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด แถลงชี้แจงกรณีการคัดแยกและขนส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ที่พบซองบัตรเลือกตั้งที่ระบุตัวเลขรหัสจังหวัดและรหัสเขตไม่ชัดเจนหรืออ่านยาก เนื่องจากเป็นลายมือของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง โดยคิดเป็น 15% ว่า สถานะในขณะนี้มีการคัดแยกบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งจากใน-นอกราชอาณาจักรครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณีบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่อ่านไม่ชัดเจน ไปรษณีย์ไทยประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการและระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยซองบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่อ่านไม่ชัดเจนได้นำส่งให้เจ้าหน้าที่ กกต. ที่ปฏิบัติงานสังเกตการณ์ประจำ ณ ศูนย์ปฏิบัติการคัดแยกบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า เพื่อวินิจฉัยและคัดกรองทันที รวมถึงมีการตรวจสอบแก้ไข และได้นำส่งคืนให้ไปรษณีย์ไทยนำกลับไปคัดแยกใหม่ 

ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยได้คัดแยกบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งใน-นอกราชอาณาจักรเรียบร้อยแล้ว และได้ขนส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งหมดไปสู่เขต 400 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งมีกำหนดการจัดส่งถึงทุกพื้นที่ ภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 และไปรษณีย์ไทยในฐานะหน่วยงานขนส่งหลักของชาติยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนภารกิจพิเศษเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 โดยยึดถือกฎเกณฑ์มาตรการและความปลอดภัยสูงสุด

กกต. แจง อ่านไม่ออก 10,000 ซองเศษ ไม่ใช่ 300,000 

ทางด้านสำนักงาน กกต. ชี้แจงล่าสุดเมื่อเวลา 17.20 น. ว่า ตามที่ นายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส โดยมีเนื้อหาในบทสัมภาษณ์ บัตรเลือกตั้งกว่า 300,000 ซอง อ่านไม่ออกนั้น กกต. ขอเรียนว่า ข้อมูลตามที่ปรากฏตามคลิปวิดีโอมีซองใส่บัตรเลือกตั้งกว่า 300,000 ซอง ไม่สามารถอ่านข้อความตามที่ปรากฏอยู่บนซองได้ ข่าวดังกล่าวเป็นความเท็จ 

...

ขอเรียนว่า ซองใส่บัตรเลือกตั้งที่ไม่สามารถอ่านลายมือของ กปน. มีจำนวนเพียง 10,000 ซองเศษ ไม่ใช่ 300,000 ซองเศษ ตามที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ เนื่องจาก กปน. ที่ปฏิบัติงานในที่เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้ง มีผู้ปฏิบัติงานจำนวนหลายคน โดยทำหน้าที่เป็นผู้เขียนรหัสจังหวัดและรหัสเขตเลือกตั้ง ทำให้ลายมือที่ปรากฏบนซองใส่บัตรเลือกตั้งมีความแตกต่างกัน ไม่สามารถอ่านรหัสจังหวัดและรหัสเขตเลือกตั้งได้โดยง่าย 

“เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ กกต. ที่ปฏิบัติงาน ณ ไปรษณีย์ไทย ได้ตรวจสอบความถูกต้องของรหัสจังหวัดและรหัสเขตเลือกตั้งแล้ว ทำให้สามารถคัดแยกซองใส่บัตรเลือกตั้งไปยังจุดหมายปลายทางได้ทุกซอง จึงไม่มีซองใส่บัตรเลือกตั้งค้างการจัดส่งและสามารถจัดส่งไปยังจุดหมายปลายทางได้เสร็จสิ้น”