กติกาสากลเป็นธงนำในการตั้งรัฐบาลเห็นพูดกันว่าพรรคการเมืองไหนได้ ส.ส. อันดับ 1 จะได้รับเกียรติให้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลก่อน
นั่นถือเป็นหลักคิดที่เริ่มต้นจากจุดนี้ก่อนเมื่อทราบผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.66 ลำดับถัดมาก็คือตั้งไม่ได้
ก็เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองลำดับรองลงมา
ส.ส.นั้นมี 2 ส่วน คือแบบ เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน รวมเป็น 500 คน พรรคไหนรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งคือ 250 เสียงขึ้นไปถือมีเสียงข้างมาก
จึงมีสิทธิเป็นฝ่ายจัดรัฐบาลอย่างชอบธรรม
แต่ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง เพราะต้องใช้มติที่ประชุมรัฐสภา คือ ส.ส. 500 คนและ ส.ว. 250 คน
ใครจะเป็นนายกฯจากแคนดิเดตของแต่ละพรรคจะต้องได้เสียงสนับสนุนมากกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภากึ่งหนึ่งของ 750 เสียง ก็เท่ากับ 375 เสียง
กล่าวคือใครจะเป็นนายกฯ ต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป
ที่พูดๆ กันว่าจะมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ยังไงเสียฝ่ายเสียงข้างมากก็ต้องเป็นรัฐบาลอยู่แล้ว
ที่ดีที่สุดฝ่ายตั้งรัฐบาลจะต้องมีเสียงมากกว่าอีกฝ่ายอย่างน้อยจะต้องมีเสียงมากกว่า 20-30 เสียงให้ขาดไปเลย
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
ฝ่ายรัฐบาลควรมี 270-280 เสียงขึ้นไปแบบนี้จะทำให้ ส.ว. ไม่กล้าบิดพลิ้วหรือแหกโผไปอีกแบบหนึ่ง
ขืนไม่โหวตให้มีปัญหาแน่
เว้นแต่คะแนนสูสีกันห่างกันแค่ไม่กี่คะแนนอย่างเช่น 255 เสียงกับ 245 เสียง ห่างแค่ 10 เสียง นั่นทำให้ ส.ว. สามารถพิจารณาเปรียบเทียบในการตัดสินใจได้
ที่สำคัญคือไม่น่าเกลียด
แต่คงเป็นไปได้ยาก เพราะพรรคที่มีเสียงข้างมากอยู่แล้ว สามารถที่จะทาบทามพรรคการเมืองอื่นเข้ามาร่วมได้
...
เพราะพรรคการเมืองไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็มีมากพอสมควรและพร้อมที่จะร่วมรัฐบาลเนื่องจากต่างก็อยากเป็นรัฐบาล
แต่ประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ก็คือกลไกรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจพิเศษทำให้มี ส.ว. 250 เสียง ที่สามารถร่วมโหวตเลือกนายกฯได้
คือแม้จะมีพรรคที่ได้ ส.ส. เป็นอันดับ 1 และพยายามตั้งรัฐบาลแต่ได้เสียงไม่มากพอที่จะชนะอีกฝ่าย เมื่อ 250 ส.ว.ยืนอยู่ข้างนี้
และมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯด้วย
นั่นแหละจะทำให้เกิดปัญหาเพราะพรรคได้ ส.ส. อันดับ 1 แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ย่อมไม่พอใจจนทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นมาได้
ปี 2562 ก็เคยมีเหตุอย่างนี้
แต่ครั้งนั้นรัฐบาลชุดนั้นมีเสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนฯ มากกว่าโดยไม่จำเป็นต้องใช้ ส.ว. สนับสนุน
แต่คราวนี้อาจจะเกิดปัญหาขึ้นมาได้.
“สายล่อฟ้า”