ให้จับตา 1-2 วัน แย้ม ดีเบต "ธนาธร-หมอพรหมินทร์" กกต.ติดใจเหตุใส่ร้าย กกต.เปลี่ยนสูตรคำนวณ ส.ส.แค่หวังคะแนนเสียง แต่ไม่มีสัญญาณการยุบพรรค รายละเอียดยังขออุบ หลังแถลงเปิดศูนย์ปฏิบัติงาน คกก.ต่อต้านข่าวเท็จ
วันที่ 2 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปกรณ์ มหรรณพ และ นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวเปิดศูนย์ปฏิบัติงานคณะกรรมการต่อต้านข่าวเท็จ ที่จัดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงาน กกต. พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานให้ประชาชนรับทราบ และเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.
นายปกรณ์ กล่าวถึงกรณีมีข่าวว่า จะมีการยุบพรรค ก่อนการเลือกตั้ง โดยย้ำว่า ไม่มีสัญญาณเรื่องการยุบพรรค แต่อาจจะมีอะไรเกิดขึ้นในช่วง 1-2 วันนี้ ซึ่งเรื่องอะไรที่ไม่ถูกต้องจะแจ้งให้ทราบ ไม่มีอะไรปิดบัง ตนมีวาระอีกไม่นาน ยืนยันว่าจะการทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ขอให้สัญญาด้วยตำแหน่ง
เมื่อถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น นายปกรณ์ ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นเรื่องอะไร แม้สื่อมวลชนพยายามจะถามว่าเรื่องการยุบพรรคหรือไม่ นายปกรณ์ปฏิเสธว่า อย่าไปคิดขนาดนั้น
ขณะที่ นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวเสริมว่า 4 ปีที่ผ่านมา ไม่มีประวัติในเรื่องการไม่สุจริต เที่ยงธรรม ตำแหน่งที่ผ่านมาเป็นเครื่องการันตี ข่าวที่เป็นเท็จจะต้องยุติ
ด้าน นายปกรณ์ กล่าวชี้แจงถึงการติดตามข่าวที่มีผลกระทบต่อการทำงานของ กกต. โดยจะเน้นไปที่ต้นตอของข่าวที่จะมีการพิจารณาถึงการดำเนินคดี เบื้องต้นมี 2 เรื่อง 1. กรณีการจัดดีเบตที่ จ.ชลบุรี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ใช้คำพูดระบุว่า “ปี 2562 กกต.เปลี่ยนแปลงสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ”
...
นายปกรณ์ กล่าวว่า และ 2. กรณี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช แกนนำพรรคเพื่อไทย ดีเบตในเวทีเนชั่น ระบุว่า กกต.เปลี่ยนสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การดำเนินการของ กกต.ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ยังใช้คำพูดเหล่านี้เพื่อให้ตนได้คะแนนนิยม ซึ่ง กกต.จะพิจารณาเรื่องนี้หลังการเลือกตั้ง เพราะถ้าทำตอนนี้จะมีผลต่อคะแนนเสียง เบื้องต้นให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูล ซึ่งการจะดำเนินคดีกับใครนั้นจะเป็นมติของ กกต. อย่างไรตาม ต้องขอบคุณ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่สื่อมวลชนพยายามขอให้วิจารณ์การทำงานของ กกต. แต่นายเศรษฐาก็ไม่พูดถึง กกต.เป็นการส่วนตัว
“มีหลายเรื่องจบไปแล้ว แต่ก็ยังเอามาพูดให้ได้คะแนนเสียงว่า กกต.ผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันถูกต้องสมควรหรือไม่ ท่านมีสิทธิเคารพในสิทธิของท่าน ท่านก็ต้องเคารพในสิทธิของเราด้วย” นายปกรณ์ กล่าว และว่า ต้องยอมรับตรงๆ ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องอ่อนไหว เราพยายามอดทนไม่ให้เป็นคดี ทั้งนี้ ในการประชุม กกต. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีการพิจารณาเรื่องคนที่ด่าเรา ว่าเรา แต่ที่ประชุมก็มีมติไม่ดำเนินคดี จะดำเนินคดีเฉพาะต้นตอ และเรื่องที่ไม่ความจริง ส่งผลต่อให้การเลือกตั้งไม่สุจริต และอดทน และใช้ช่องทางชี้แจง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปกรณ์ ยังกล่าวถึงเรื่องการปล่อยข่าวอย่างการเลือกตั้งปี 2562 ที่มีการปล่อยข่าวเรื่องขนบัตรเลือกตั้งเถื่อนที่ลานจอดรถสำนักงาน กกต. สุดท้ายหลังการเลือกตั้งก็มาขอโทษ
“ยืนยันว่าทำงานด้วยความสุจริต ผมได้รับการสรรหาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พร้อมด้วย นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี แต่ก็ถูกมองว่า กกต.มาจาก คสช. 4-5 ปี ที่มาทำงานไม่เคยคุย หรือรับประทานอาหารร่วมกับนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ไม่เคยพูดคุย เคยเจอในงานพิธี ผมรู้จักเขา เขาไม่รู้จักผม จึงยืนยันได้ว่าผมไม่ได้มาจากใคร” นายปกรณ์ ระบุ
ด้าน นายฐิติเชฏฐ์ เสริมว่า ไม่สมควรนำมาพูดอีกเพราะจะทำให้ประชาชนสับสน โดยเฉพาะเยาวชนวัย 18 ปี ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะเมื่อปี 2562 เขาอาจไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และไม่ทราบคำวินิจฉัยของศาล จึงเป็นจุดเปราะบางที่อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน