ปกติพื้นที่ปลายด้ามขวานทองที่คลุมภาคใต้ทั้งหมดของไทยไม่มีพรรคการเมืองไหนจะหาญกล้าเข้าไปช่วงชิงได้
“ประชาธิปัตย์” ผูกปีกินมาตลอด
ถึงกับพูดกันว่าส่งเสาไฟฟ้าลงเลือกตั้งก็ชนะและเป็นเช่นนั้นจริงๆ หลายพรรคพยายามอย่างเต็มที่ก็ไม่ได้ผล
“เพื่อไทย” สมัย “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งตอนนั้นเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1
หวังจะชิงพื้นที่จากประชาธิปัตย์ในภาคใต้แต่ก็ไม่สำเร็จ
มิหนำซ้ำยังสร้างรอยด่างให้คนใต้เจ็บช้ำจนมาถึงวันนี้ไม่ว่ากรณีเหตุการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ หรือประกาศไม่ดูแลจังหวัดที่ไม่เลือกไทยรักไทย
ด้วยความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ทำให้คนใต้ไม่เลือกพรรค “ทักษิณ” ไม่ว่าจะแปลงเป็นพรรคการเมืองชื่ออะไรก็ตาม
การเลือกตั้งครั้งนี้มีความพยายามที่จะปักธงให้ได้พูดกันว่าขอสัก 1 เขต ก็ยังดีจึงส่งผู้สมัครและรณรงค์หาเสียงในหลายจังหวัด
แต่ความจริงก็คือความจริง
มันเป็นความรู้สึกที่เหมือนถูกเหยียดหยามด้อยค่าแบบเจ็บแล้วจำแม้ในยามที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง
คือไม่มีพรรคไหนเป็นเจ้าข้าวเจ้าของแล้วก็ตาม
การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ตกต่ำอย่างสุดขีด โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคใต้ถูกพรรคการเมืองอื่นตีป้อมค่ายแตกกระจุย
โดยเฉพาะภูมิใจไทยและพลังประชารัฐสามารถเข้ามายึดครอง ส.ส.ได้หลายจังหวัด จนปรามาสว่าประชาธิปัตย์หมดน้ำยาแล้ว
แม้กระทั่ง “ตรัง” จังหวัดที่ “นายหัวชวน” กุมสภาพมาตลอดก็ยังถูกทะลวงฟันจนเสียฟอร์มมาถึงทุกวันนี้
ประชาธิปัตย์นั้นในการเลือกตั้งแต่ละครั้งภาคใต้และ กทม. ถือเป็นจุดเด่นทำให้พรรคเก่าแก่พรรคนี้มีลมหายใจอยู่ได้
...
แต่การเลือกตั้งปี 2562 พ่ายแพ้อย่างราบคาบทั้ง กทม. และภาคใต้ เพราะเกิดปัญหาขัดแย้งในพรรค
“แตกเป็นเสี่ยง” เลยก็ว่าได้
มีการโทษ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ประกาศไม่เอา “ลุงตู่” ทำให้เกิดกระแสตีกลับจนสนาม กทม. ไม่ได้ ส.ส.แม้แต่
คนเดียว
การเลือกตั้งในปี พ.ศ.นี้ 2566 คงมีบทบาทจากที่ผ่านมาไม่ว่ารุ่นเล็ก-รุ่นใหญ่ต่างจับมือสมานสามัคคีที่จะคืนชีพกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
14 พ.ค.66 วันกาบัตรเลือกตั้งจะเป็นวันชี้ชะตาอนาคตประชาธิปัตย์อีกครั้งหนึ่งว่าจะฟื้นกลับมายืนบนถนนการเมืองอีกครั้งได้หรือไม่
เพราะถ้ายังกู่ไม่กลับก็คงช่วยอะไรไม่ได้
หรือหากฟื้นขึ้นมาได้ก็ต้องปรับบริบทพรรคเสียใหม่ เพื่อให้สอดรับกับความจริงที่การเมืองของประเทศนี้ได้พัฒนาไปหลายก้าว
โดยเฉพาะพรรคของคนรุ่นใหม่ที่มีอนาคตสดใส.
“สายล่อฟ้า”