เกือบ 9 ปี ที่รัฐบาลสืบทอดอำนาจมาจากรัฐประหาร คสช. แม้ในบางช่วงเวลา รัฐบาลจะประกาศว่าจะขจัด ความยากจนให้สิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทยภายในปี 2561 ผ่านมาแล้ว 5 ปี มีแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า นอกจากคนจนจะไม่หมดสิ้นไปแล้ว ยังเพิ่มขึ้นทุกปี จากไม่ถึง 10 ล้านคน พุ่งขึ้นเป็น 22 ล้านคน
22 ล้านคนเป็นตัวเลขของประชาชน ผู้มีรายได้ต่ำยื่นขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” เพิ่มขึ้นทุกปี จนถึงกว่า 22 ล้านคนในปี 2565 ดูเหมือนว่าจะได้รับอนุมัติไม่ถึง 14 ล้านคน แต่รัฐบาลยืนยันว่าประเทศไทยมี
คนจนแค่ 4 ล้านคน ไม่ถือว่าผู้ขอบัตรสวัสดิการคนจน ไม่ใช่คนจนทั้งหมด แต่ “อยากจน” มากกว่า
ผู้มีสิทธิที่จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต้องมีรายได้ไม่เกินปีละ 100,000 บาท หรือเดือนละประมาณ 8,333 บาท เท่ากับวันละประมาณ 274 บาท น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ คือวันละ 353 บาท ผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐได้รับเงินจากรัฐเดือนละ 200-300 บาท ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำเป็นประเด็นที่ร้อนแรง
พรรคการเมืองส่วนใหญ่แข่งกันสัญญาจะแจกเงินสวัสดิการเพิ่มขึ้น พรรคพลังประชารัฐอ้างว่าเป็นเจ้าของนโยบาย จึงประกาศเพิ่มเงินสวัสดิการเป็นเดือนละ 700 บาท พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเคยเป็นรัฐบาลร่วมกัน และอ้างว่าเป็นเจ้าของนโยบายเช่นเดียวกัน แต่เกทับทีหลังให้เดือนละ 1 พัน
ผู้มาทีหลังและประกาศทีหลัง จึงเกทับคู่แข่งได้ดีกว่า แต่พรรคคู่แข่งอื่นๆมองว่า เงินจากบัตรคนจนเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย หลายพรรคสัญญาจะแจกเงินบำนาญผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จากเดือนละ 600 บาทถึงพันบาท เป็นเดือนละ 3,000 บาท พรรคเพื่อไทยมาทีหลัง สัญญาว่าจะแจกผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน คนละหมื่นบาท
แต่นักวิชาการบางส่วนไม่เชื่อว่า นโยบายลด แลก แจก แถมทั้งหลายที่พรรคการเมืองแข่งกันแจกอยู่ขณะนี้
จะสามารถขจัดความยากจนได้ สังคมไทยจะ “รวยกระจุก จนกระจาย” อีกไม่รู้กี่ชาติ เนื่องในโอกาส “วันแรงงานสากล” 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มแรงงานขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาท
...
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ได้เผยแพร่เอกสารระบุว่า “สิทธิแรงงาน” เป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอย่างหนึ่ง จึงขอเรียกร้องให้แรงงานเข้าถึงการจ้างงาน มีสิทธิได้รับค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิทธิที่จะมีหลักประกันสังคมกันโดยถ้วนหน้า.