เป็นที่น่าสังเกตว่ายิ่งใกล้วันลงคะแนนเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 ในจังหวัดต่างๆค่อนข้างจะเงียบ โดยในพื้นที่ที่บ้านใหญ่-บ้านใหม่คุมสภาพอยู่

จะมีเสียงดังก็เพราะทีมหาเสียงของแต่ละพรรคที่มาจากส่วนกลางเท่านั้นที่ส่งเสียงอึกทึกครึกโครมหน่อย

แต่ก็เป็นแค่ครั้งคราวเท่านั้น

ที่เงียบๆนั้นไม่ใช่ว่าปิดประตูรู้แพ้-ชนะกันไปแล้ว แต่จริงๆแล้วดุเดือดเลือดพล่านสู้กันใต้ดินมากกว่า

เกทับกันด้วยกระสุนเป็นช่วงๆไป

ต้องไม่ลืมว่าแต่ละกลุ่มแต่ละพวกนั้นมีประสบการณ์และความชำนาญในแต่ละพื้นที่ว่าใครเป็นใคร

หัวคะแนนใครคุมสภาพตรงไหน

พูดง่ายๆทุกตารางนิ้วถูกสแกนไว้หมด ขนาดว่าลมหายใจที่ผิดแผกเข้าไปก็มิอาจหลุดรอดจากสายตาไปได้

กลไกที่ทำหน้าที่จึงมีประสิทธิภาพสูงโอกาสที่จะผิดพลาดมีน้อยอยู่ที่มูลค่าของกระสุนแต่ละชุดนั้นใครจะเหนือกว่ากัน

แพ้-ชนะวัดกันตรงนี้แหละ

สิ่งที่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งก็คือ “กระแส” ซึ่งการเมืองในระยะหลังๆนี้มีบทบาทมากพอสมควรมีผลต่อการตัดสินใจที่จะเลือกคนไหน-พรรคไหน

แต่แม้ว่ากระแสดีก็จริง แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับกระสุนด้วย

กงล้อการเมืองไทยแม้จะหมุนมาหลายรอบหลายปี แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมาก การเลือกตั้งครั้งนี้ท่ามกลางความตื่นตัวของคนไทยทั้งประเทศ

คาดการณ์กันว่าจะมีผู้ไปใช้สิทธิสูงถึง 70%

หากเป็นไปเช่นนั้นจริง คงทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาน่าจะมีแนวโน้มที่ดีได้ หมายความ “คนดี” มีโอกาสเข้ามาปกครองประเทศมากขึ้น

เพียงแต่ว่าในสถานการณ์ที่เป็นจริงของการเมืองไทยนั้นยังอยู่ในหล่มความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่าย

เป็นความขัดแย้งที่ดำรงอยู่และแก้ยาก

ภาพทางการเมืองก่อนถึงวันที่ 14 พ.ค.66 นั้น ฝ่ายหนึ่งดูจะมั่นใจในชัยชนะแต่ก็ต้องแย่งชิงกันเองในขั้วเดียวกัน

...

เพราะ “อุดมการณ์” นั้นต่างกันแบบจะสิ้นเชิง ทำให้เกิดมุมมองและการวางบทบาทแตกต่างจนไปด้วยกันไม่ได้

นับวันยิ่งชัดเจนในความแตกต่าง

เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้อีกขั้วหนึ่งสบายใจขึ้นมาระดับหนึ่ง เมื่อคู่ต่อสู้แทงกันเอง ซึ่งนับวันจะหนักขึ้นเรื่อยๆ

เอาเป็นว่าสุดท้ายผลการเลือกตั้งที่จะออกมา จึงอยู่ที่ขั้วไหนจะได้เสียงมากน้อยกว่ากัน ซึ่งจะกระจายผ่านแต่ละพรรคการเมือง

และที่ได้เสียงมากสุดก็ไม่แน่ว่าจะได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล อยู่ที่ว่าพรรคไหนจะช่วงชิงการนำและรวมเสียงได้มาก

ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างแยกไม่ได้ก็คือ...

250 ส.ว. ที่มีอำนาจในการโหวตนายกฯ.

“สายล่อฟ้า”