วันนี้เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” อยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติหรือไม่ยังไม่ได้ข่าว แต่ “16 นโยบายพรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ แถลงข่าวสัปดาห์ที่แล้ว น่าแปลกใจที่ไม่มีนโยบาย “ค่าแรงขั้นตํ่า” นอกจากนโยบายประชานิยมที่ไม่ยั่งยืนมากมาย เช่น บัตรสวัสดิการพลัส เดือนละ 1,000 บาท ลดค่าไฟฟ้าให้ผู้มีรายได้น้อยคนละครึ่งภาค 2 เป็นต้น ทั้งที่การเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯได้ชูนโยบาย ขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าเป็นวันละ 425 บาท แต่ทำไม่สำเร็จ ค่าแรงขั้นตํ่าวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุบสภาก่อนครบเทอมอยู่ที่ วันละ 328-354 บาท เท่านั้น
เลือกตั้งครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แถลงนโยบายล่าสุดวันศุกร์ที่แล้ว มีเพียง 3 นโยบายลดค่าใช้จ่าย 7 นโยบายเพิ่มเงินในบัญชี ไม่มีนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นตํ่าเหมือน 4 ปีที่แล้วเช่นเดียวกัน
การขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์แรงงานไทย ก็คือ การขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าในสมัย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2554 เมื่อ 11 ปีก่อน ขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าจากวันละ 215 บาท เป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ จนกระทั่งถูก พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิวัติยึดอำนาจในปี 2557 จากวันนั้นถึงวันนี้ 11 ปีผ่านไป ค่าแรงขั้นตํ่าเพิ่งขึ้นมาอยู่ที่วันละ 328-354 บาท โดยตลอด 8 ปีกว่า ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการปฏิวัติยึดอำนาจ มีการขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าเพียง 28-54 บาทเท่านั้น การขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าครั้งล่าสุดคือ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
ไม่น่าเชื่อนะครับ 11 ปี มีการขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าแค่ 28-54 บาท เฉลี่ยขึ้นปีละ 2.54-4.90 บาท จึงไม่แปลกที่ประเทศไทยจะมีคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน ต้องยังชีพด้วย “เงินสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่เป็น “เงินภาษีของประชาชน” ทุกเดือน แต่ก็ยังมีนักการเมืองบางพรรคหน้าไม่อายไปหาเสียงว่าเป็น “บัตรลงตู่” เหมือนภูมิใจเต็มที
...
การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ มีพรรคการเมืองที่ชูนโยบาย ขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า เท่าที่เป็นข่าวมีอยู่เพียงสองพรรคคือ พรรคเพื่อไทย มีนโยบาย เพิ่มค่าแรงขั้นตํ่าเป็น 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 โดยจะ เพิ่มค่าแรงขั้นตํ่าให้สูงกว่าวันละ 400 บาทในปีหน้า 2567 และ พรรคก้าวไกล มีนโยบาย เพิ่มค่าแรงขั้นตํ่าทันทีเป็นวันละ 450 บาท ถ้าก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล จากค่าแรงขั้นตํ่าในปัจจุบันวันละ 328-354 บาท
วันแรงงานปีนี้ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยถึงผลสำรวจ “สถานภาพแรงงานไทยกรณีศึกษาผู้มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท” พบว่า แรงงานส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาในเรื่องรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทำให้มีภาระหนี้สูงขึ้น จากค่าครองชีพที่สูง มีการกู้เงินเพิ่มเพื่อชำระหนี้ จึงก่อให้เกิดหนี้สะสม ทำให้ภาระหนี้ครัวเรือนของแรงงานไทยปีนี้ขยายตัว 25.05% คิดเป็นมูลค่าหนี้ 272,528 บาทต่อครัวเรือน ที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งก็คือ ผลสำรวจพบว่า แรงงานไทย 73.5% ไม่มีแผนการออม ขณะที่ 26.5% มีแผนการออมสัดส่วนการออมแค่ 9.9% ของรายได้ ออมตั้งแต่ 500-1,000 บาทต่อเดือนมากที่สุด 45.2% สาเหตุก็คือมีรายได้ ไม่พอกับรายจ่าย รายได้ไม่เพิ่ม แต่ราคาสินค้าแพงขึ้น
ดูค่าแรงขั้นตํ่าไทยแล้ว ผมก็เอาค่าแรงขั้นตํ่าประเทศที่พัฒนาแล้วมาให้ดูเล่น สหรัฐฯค่าแรงขั้นตํ่าชั่วโมงละ 15 เหรียญ วันละ 120 เหรียญ เยอรมนีชั่วโมงละ 10.45 ยูโร วันละ 83.60 ยูโร ฝรั่งเศสชั่วโมงละ 10.85 ยูโร วันละ 86.80 ยูโร อังกฤษชั่วโมงละ 9.18 ปอนด์ วันละ 73.44 ปอนด์ คิดเป็นเงินไทยชั่วโมงละกี่บาท วันละกี่บาท ไปคูณกันดูครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”