เปิดปากกับภาคภูมิ ฟังผู้เชี่ยวชาญสำนักโพลดัง "สวนดุสิตโพล" และ "นิด้าโพล" เผยแนวคิด-ผลสำรวจของประชาชน ใครได้-ใครโดน ในสนามเลือกตั้ง 2566
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 14 เมษายน 2566 ในรายการ "เปิดปากกับภาคภูมิ" ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ดำเนินรายการโดย นายภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ ได้พูดคุยกับรศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการ สวนดุสิตโพล และผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล ในประเด็นการเลือกตั้ง 2566

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการ สวนดุสิตโพล เผยถึงช่วงเลือกตั้งว่า ว่ากันจริงๆ ก็คึกคักมากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประเด็นของประชาชน อีกประเด็นหนึ่งเรื่องของการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ตัวขับเคลื่อนคือนักการเมือง และพรรคการเมืองที่ออกมาเต้นกันอย่างเต็มที่ ทำให้มันค่อนข้างเร้าใจ

...
ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล เผยว่า บรรยากาศคึกคักทีเดียว เพราะผ่านการเลือกตั้งมา 4 ปี ทุกคนเฝ้าติดตามอยู่ ฝั่งรัฐบาลเดิม และฝ่ายค้าน ก็ต่างฝ่ายต่างสู้กัน แต่ปัจจัยที่ทำให้คนชนะการเลือกตั้งมี 4 ปัจจัยหลักที่สำคัญ อันแรกคือ กระแส ว่าพรรคใครนำ นายกฯ คือใคร ปัจจัยที่ 2 คือ ตัวนโยบาย 3 คือตัวบุคคล ว่ามาจากบ้านใหญ่ใหม่ เป็นอดีต ส.ส.รึเปล่า แต่ประเด็นสุดท้ายคือ ทรัพยากรทางการเมือง คือรวมๆ ทุกอย่าง ทั้ง 4 ปัจจัยมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง แต่ละที่มีน้ำหนักไม่ต่างกัน อย่างในกรุงเทพฯ กระแสกับนโยบายพรรคจะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจคน แต่ที่เหลืออีก 360 เขต ตัวบุคคลกับทรัพยากรทางการเมืองจะเป็นตัวตัดสิน ซึ่งทั้ง 4 อย่างก็มีน้ำหนักเท่ากันหมด แต่ขึ้นอยู่กับพื้นที่

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ กล่าวต่อว่า ตนมองเหมือนกัน แต่ใน 300 กว่าเขต ตนให้ทรัพยากรมาก่อน เพราะเราเลือกตั้งช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจริงๆ บรรยากาศการซื้อสิทธิ์ขายเสียงก็ยังจะมีอยู่ ถ้าเราสอบถามคน เขาจะตอบจะเป็นความรู้สึกในช่วงเวลานั้นๆ แต่เรื่องกระแส หรือกระสุนจะมาทำให้เขาตอบแล้ว ไม่ใช่ทันที แต่ในปัจจุบันมันจะมีคำว่า "รับแล้ว แต่ไม่เลือก" รวมถึงประเด็นคนแก่คนเฒ่าที่น้อยลง การแจกในปัจจุบันก็จะสู้ในระยะที่ใกล้ขึ้นมา จึงเป็นของทรัพยากรที่ชัดขึ้น
ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ เผยต่อว่า เขามีวิธีการในการทุ่มทรัพยากรทางการเมืองแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ในวิธีคิดของคนในช่วงนี้จะตามความรู้สึก ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เจอมา เช่น ชอบนโยบาย หรือชอบกระแสนี้ ขึ้นอยู่กับสถาการณ์ แต่ช่วง 3 วันก่อนเลือกตั้งก็อาจจะไม่เป็นแบบนี้
หากถามถึงผลโพลของการเลือกตั้งที่ผ่านมาในกรุงเทพฯ รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ กล่าวว่า ย้อนกลับไปช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ผลที่ออกมามันค่อนข้างเป็นปัจจัยบวก เพราะคู่แข่งเราพอจะรู้อยู่แล้ว ประกอบกับสำนักโพลที่ทำออกมาสอดคล้องกัน แต่ท้ายที่สุดเรื่องกระแสมันตรง เพราะในกรุงเทพฯ การทำโพลมันง่ายกว่าต่างจังหวัดเยอะ เพราะถ้ามันโดนใจคนกรุงเทพฯ ยังไงก็เลือก

ด้าน ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ เผยว่า ของตนถือว่าตรง เพราะ อ.ชัชชาติ ได้เกิน 50% ยอมรับว่าวิ่งเกินคนเดียว อย่างที่บอกว่าในกรุงเทพฯ ปัจจัยภายนอกมีผลน้อยมาก ตัวบุคคลไม่มีผลเลย กระแสแต่ละครั้งที่ลงคะแนนมีผลสำคัญ แต่ในต่างจังหวัดจะเป็นเรื่องของบุคคล
เมื่อถามถึงเรื่องการทำโพลเลือกตั้ง 2566 รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ กล่าวว่า การทำโพลเลือกตั้งตั้งอาศัยข้อมูลต่างๆ พื้นฐาน ดุสิตโพล ทำมาปีกว่าแล้ว แต่เป็นลักษณะนิยมพรรคใด ถ้าเลือกจะเอาผู้สมัครพรรคใด เป็นข้อมูลพื้นฐานว่าจะเลือกใคร หลังจากประกาศรายชื่อแต่ละพรรคแล้ว และหลังสงกรานต์ก็จะลงโพลอีกครั้งหนึ่ง ที่เป็นผลสำรวจหลังยุบสภา และจะลงอีกครั้ง เป็นการสรุปครั้งสุดท้ายก่อน 14 พ.ค. ว่าใครจะเข้าวิน
ขณะที่ ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ เผยว่า นิด้าโพล ทำมาเยอะ แต่โพลประจำที่ทำคือคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ทำมาตั้งแต่ปี 62 จนถึงธันวาคมปี 65 และได้ทำเพิ่มเติมรายภาค ทั้งหมด 6 ภาค พอมาปีนี้เน้นที่รายจังหวัด แต่อย่างหนึ่งที่เราทำ คือศึกเลือกตั้ง 66 หลังจากนั้นในวันที่ 3 พ.ค. ก็จะเผยผลเลือกตั้งอีกครั้ง พร้อมจัดดีเบต และเก็บไว้เปิดเผยผลเลือกตั้งหลังปิดหีบ
รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ กล่าวถึงเรื่องการทำ exit poll ว่า เรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับการทำโพล ทนายบางคนเตือนว่าห้ามออกผลโพลเลือกตั้งล่วงหน้า จึงมีข้อจัดการหลายอย่าง ส่วนเรื่องของ exit poll นอกจากค่าใช้จ่ายที่สูงแล้ว การถามหน้าหน่วยเลือกตั้ง เขามองว่าเป็นการสื่อสารว่าจะเลือกอะไร อาจไปตีความว่าเราเผยแพร่ขอมูล ซึ่งอาจจะผิดกฎหมาย แต่ในระหว่างการทำโพล ถ้าให้ชัวร์จะทำถึงแค่วันที่ 6 พ.ค. เพราะกลัวว่าจะหลุดเผยแพร่ไป ส่วนเรื่องที่ผลว่าคลาดเคลื่อน ตรงนี้ก็ต้องอาศัยข้อมูลประกอบหลายๆ ส่วน เพราะมันจะต้องมีการผันแปรด้วยปัจจัยอื่นเยอะแยะเลย ฉะนั้นการคาดการก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์อื่นๆ ด้วย บวกลบประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ หากนำมากกกว่านี้ก็มีโอกาสพลิกได้

ขณะที่ ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ เผยว่า ก่อนการเลือกตั้ง 14 พ.ค. เราสามารถทำโพลได้ตลอด ตราบใดที่ยังไม่เปิดเผย ในกรุงเทพฯ โอกาสเปลี่ยนแปลงน้อยมาก 2-3 วันก่อนเลือกตั้งอาจจะมีบ้าง แต่ไม่มีทางพลิกกลิ้ง เพราะกรุงเทพฯ คะแนนค่อนข้างคงที่ และเขาตัดสินใจได้แล้วก่อนเลือกตั้ง 2 สัปดาห์ จึงคิดว่าโอกาสเปลี่ยนน้อย ซึ่งทางนิด้า จึงตัดสินใจทำโพลทั้ง 33 เขต และหลังปิดหีบเปิดเผยว่าแต่ละเขตผลจะเป็นอย่างไร เพราะเชื่อว่าปัจจัยที่ 3 และ 4 มีผลน้อยมาก ส่วนโพลทั้งประเทศขอก่ายหน้าผาก 2 อาทิตย์แล้วค่อยบอก
เมื่อถามถึงผลจากผลที่สำรวจมาคะแนนนิยมที่ผ่านมา รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ กล่าวว่า เราต้องดูว่าเลือกตั้งครั้งนี้ ส.ส.เขตได้ก็คือได้ ตกก็คือตก เพราะแยกบัตร 2 ใบ พอไม่รวมจะเห็นว่าตัวเต็งเขตมีทั้งเจ้าเก่าและเจ้าใหม่ ซึ่งมีตัวชัดเจน ประกอบกับบ้านใหญ่ที่ส่งมา พอผลสำรวจออกมาค่อนข้างชัดเจน เพื่อไทยอันดับ 1 ก้าวไกลอันดับ 2 แต่พอมาถึงเขต มันค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นพรรคที่คิดว่าได้คะแนนเป็นอันดับ 2 อาจจะได้ ส.ส.เขตน้อยก็เป็นไปได้

ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ กล่าวเสริมว่า เรื่อง ส.ส.เขตยาก เพราะแต่ละเขตมีปัจจัยเต็มไปหมด อย่างพรรคก้าวไกลที่คะแนนมาเป็นอันดับ 2 หลายคนอาจจะคิดว่าคะแนนมาอันดับ 2 ทั่วประเทศ แต่คุณอาจจะไม่ได้ ส.ส. เพราะคะแนนที่ 2 ของเขตอาจจะโดนโยนทิ้งน้ำจำนวนมาก ไม่เหมือนครั้งที่แล้ว พอหลุดไปจากนั้นปัจจัยที่ 3 และ 4 มันแรงอาจจะลำบากนิดหน่อย
สำหรับประเด็น ฝ่ายค้านเดิม หรือรัฐบาลเดิม หากรวมเสียงกัน รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ กล่าวว่า ปาร์ตี้ลิสต์ฟันธงได้ ถ้าเพื่อไทยบวกกับก้าวไกลจะได้สัดส่วนเยอะเกิน 50 คนแน่นอน แต่จะไปอยู่ที่เขต 400 คน เพราะอย่าลืมว่ามีเจ้าของเขตอยู่ในนั้น จึงมีการทุ่มกันสุดฤทธิ์ ทุกคะแนนที่ชนะกันมีความหมาย

ขณะที่ ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ เผยว่า ปาร์ตี้ลิสต์เพื่อไทยจะได้ประมาณ 45-46 ขณะที่ก้าวไกลได้สัก 15 ประมาณนี้ ซึ่งทาง รศ.ดร.สุขุม ก็เห็นเช่นเดียวกัน บอกว่าจะโดนแรงต้านอยู่แล้ว ส่วนเขต 400 นั้นคนละเรื่องแล้ว แต่คิดว่าอันดับหนึ่งทั้งประเทศยังเป็นเพื่อไทยอยู่
ส่วนเรื่อง ส.ส.เขตจำนวน 400 รศ.ดร.สุขุม เผยว่า คิดว่าเพื่อไทยจะได้ 200 ขึ้น และได้จำนวนไม่ต่ำกว่า 250 จากทั้ง 2 ระบบรวมกัน ขณะที่ ผศ.ดร.สุวิชา กล่าวว่า คิดว่าจาก 500 เพื่อไทยจะได้ประมาณ 235-240 เก้าอี้ จากแรงต้านจนหล่นลงมา หากอยากได้ 310 จากซุปเปอร์แลนด์สไลด์ เพื่อไทยต้องกินก้าวไกลทั้งตัว
รศ.ดร.สุขุม กล่าวเสริมว่า คิดเช่นเดียวกัน เพราะตนคิดว่าคนที่เลือก แบ่งกลุ่มได้ชัดเจน ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเขาแบ่งเค้กเรียบร้อยแล้ว หากจะแลนด์สไลด์ต้องมียุทธศาสตร์อะไรออกมาสักอย่าง ส่วนที่ถามว่า หากพรรคฝ่ายค้านเก่า เพื่อไทย และก้าวไกล รวมเสียงได้ 250 เสียง คิดว่า ส.ว.จะโหวตให้ไหม ทั้งคู่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ายาก.