ตัวแทน 12 พรรคการเมือง ส่งเสียงพ้อง เสรีภาพในการรวมกลุ่มต้องเป็นของประชาชน การออกกฎหมายหรือนโยบายต้องสนับสนุนไม่ใช่ปิดกั้นควบคุม ขอรัฐอย่าพยายามผลักดันกฎหมายมาปิดปากประชาชน

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 66 "ไทยแอ็ค" ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “การรวมกลุ่มของประชาชน ในสายตาพรรคการเมือง” โดยมี 12 พรรคการเมืองเข้าร่วม โดยนางสาวปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา ว่า เป็นความท้าทายอย่างมาก ในการที่ประชาชนจะรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องรณรงค์หรือเคลื่อนไหวทางสังคม พร้อมกับตั้งคำถามถึงความพยายามของรัฐบาลในการจะออกพระราชบัญญัติการด้านเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากําไร ซึ่งคล้ายต้องการจำกัดและควบคุมการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมของของประชาชน และบั่นทอนการทำงานขององค์กรไม่แสวงหากำไร

“ขออย่าได้พยายามที่จะผลักดันกฎหมายมาปิดปากประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคม แม้ว่าพวกเขาจะส่งเสียงที่แตกต่างจากผู้นำประเทศก็ตาม หากภาครัฐพยายามที่จะทำลายองค์กรภาคประชาสังคมจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ ที่ตอนนี้ประเทศไทยเป็นเหมือนความหวังในภูมิภาคขององค์กรภาคประชาสังคม ท่ามกลางประเทศพื้นบ้านที่กีดกันการทำงานขององค์กรเหล่านี้ และขอให้รัฐบาลชุดใหม่ปัดกฎหมายนี้ให้ตกไป ประเทศไทยเป็นความหวังของภูมิภาค ถ้าเกิดมีข้อจำกัดเหล่านี้ภูมิภาค ก็ไม่มีความหวัง เราหวังว่าแผ่นดินไทยจะเป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทองของภาคประชาสังคม”

...

นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การคุกคามการรวมกลุ่มทางสังคม ทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเมือง ตั้งแต่ยุค คสช. 2557 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจำนวนมาก แม้จะสิ้นสุดยุค คสช. ไปแล้ว แต่รัฐบาลที่สืบอำนาจ ก็ยังมีการร่างกฎหมายออกมาเพื่อคุกคาม โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 พร้อมระบุว่า ความสวยงามของประชาธิปไตย คือ การเปิดพื้นที่ให้กับคนคิดและแสดงออกได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมไทยถูกกล่าวหามาอย่างยาวนาน

โดย หนึ่งในข้อครหาที่ฝ่ายต่อต้าน มักหยิบยกวาทกรรมมาทำลายองค์กรภาคประชาสังคมคือประเด็นเรื่องการรับเงินจากองค์กรต่างชาติ ซึ่งสมบูรณ์ได้อธิบายประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องปกติขององค์กรภาคประชาสังคม เพราะงบประมาณในประเทศไทยนั้นมีอย่างจำกัด

นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากตัวแทนพรรคการเมือง เช่น นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่าพรรคมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มของประชาชน 30 ข้อ ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, สิทธิของชุมชน, การแก้ไขกฎหมาย SLAPP (ฟ้องปิดปาก) และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยืนยันพรรคไม่รับกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมอย่างเด็ดขาด

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าการมีภาคประชาสังคมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเป็นหัวใจสำคัญ และประชาสังคมคือ Think Thank และต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศ รวมทั้งประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้ถ้าหากภาคประชาสังคมเข้มแข็ง

ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า มองว่าการชุมนุมของภาคประชาชนเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริมเพื่อให้เกิดการแข่งขันได้อย่างเสรี และไม่ก่อให้เกิดปัญหาทุนผูกขาด ในขณะเดียวกันรัฐควรเปิดรับข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคม ไม่ใช่ไปควบคุมแต่ควรที่จะสนับสนุนการทำงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

พรรคไทยสร้างไทย นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารพื้นที่ ระบุว่าควรให้การสนับสนุนการรวมกลุ่มของประชาชน แต่รัฐบาลชุดที่ผ่านมานั้นเป็นเผด็จการซ่อนรูป ที่ใช้กฎหมายมาปิดปากประชาชน และหากนักการเมืองในวันนี้ให้ความสำคัญจริงๆ กับเสรีภาพของประชาชน ก็ควรจะทำให้ได้ตามที่พูด

ส่วนนายสาวิทย์ แก้วหวาน หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน และพรรคสนับสนุนการรวมตัวกันของประชาชนในทุกรูปแบบ

นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ พรรครวมไทยสร้างชาติ มองว่าการออกกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมไม่ได้ออกมาเพื่อกดขี่ หรือ ริดรอนเสรีภาพ ไม่ได้จำกัดการทำงานของประชาสังคม แต่การออกแบบกฎหมายมาให้มีขอบเขตที่กว้างก็เพื่อจะได้เพื่อให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนสำหรับพระราชบัญญัติ การชุมนุมสาธารณะนั้นก็มีไว้ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ความรุนแรงจากการชุมนุมออกมาซ้ำรอย

รองศาสตราจารย์ รงค์ บุญสวยขวัญ กรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ ย้ำถึงการก้าวข้ามความขัดแย้ง และทางพรรคเห็นคุณค่าของทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมาในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนนำเสนอร่างกฎหมายเข้าไปสู่ในสภาฯ แต่จะผ่านหรือไม่นั้นก็เป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคม ที่จะต้องโน้มน้าวพรรคการเมืองอื่นด้วยตนเอง