ราชกิจจาฯ ประกาศระเบียบ กกต. เรื่องการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ทำการพิจารณาภายใน 30 วัน หากไม่เสร็จต่อได้อีก 15 วัน ค่าตอบแทนกรรมการวันละ 500 บาท
วันที่ 16 มี.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (15 มี.ค. 2566) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 มาตรา 34 และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 มาตรา 5 และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงออกระเบียบไว้ ดังนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566”
ข้อ 2 ระเบียบฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561
นอกจากนี้ ในประกาศยังกำหนดว่า เมื่อได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการดังต่อไปนี้ เสนอชื่อผู้แทนของส่วนราชการที่มีความรู้ทางด้านการเงินและบัญชี หรือผู้ที่มีความรู้ทางด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง กับการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง เป็นคณะกรรมการตรวจสอบแบบบัญชีรายชื่อ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงบประมาณ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำหรับกรุงเทพมหานคร ให้ผู้อำนวยการประสานไปยังหัวหน้าส่วนราชการตามวรรคหนึ่ง
ขณะที่การทำหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบทำการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและผู้สมัคร ดังนี้
1. การตรวจสอบบัญชี เป็นการตรวจสอบความถูกต้องโดยทั่วไปของการจัดทำบัญชี การบันทึกบัญชี ว่าเป็นไปโดยถูกต้อง และเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชี มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และสอดคล้องกันหรือไม่ รวมทั้งการตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของที่มาของเอกสารหลักฐาน และการบันทึกบัญชี
2. ตรวจสอบเรื่องเฉพาะ ซึ่งอาจใช้รายงานการตรวจสอบการหาเสียงเลือกตั้งของสำนักงาน หรือองค์กรเอกชน หรือบุคคลใด (ถ้ามี)
3. ตรวจสอบอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการตรวจสอบ ผู้อำนวยการ เลขาธิการ หรือ คณะกรรมการเห็นสมควร ในการดำเนินการตรวจสอบ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจในการเรียกให้หัวหน้า พรรคการเมือง ผู้สมัคร หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ หากบุคคลดังกล่าวไม่ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริง หรือไม่จัดส่งเอกสารเพิ่มเติม ให้ดำเนินการตรวจสอบตามหลักฐานที่มี และเสนอต่อเลขาธิการหรือผู้อำนวยการ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการตรวจสอบ ตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเลือกตั้งของพรรคการเมือง หรือของผู้สมัคร ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดการยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง กรณีดำเนินการตรวจสอบไม่แล้วเสร็จตามวรรคหนึ่ง ให้ขอขยายระยะเวลาการตรวจสอบต่อเลขาธิการ หรือผู้อำนวยการ แล้วแต่กรณี ได้อีกไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลา ตามวรรคหนึ่ง พร้อมทั้งแสดงเหตุผลแห่งการล่าช้าด้วย อัตราค่าตอบแทนของกรรมการตรวจสอบ วันละ 500 บาท
รวมถึงให้เลขาธิการหรือผู้อำนวยการจัดทำประกาศผลการตรวจสอบบัญชีรายรับและ รายจ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองหรือของผู้สมัคร แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ครบระยะเวลาการตรวจสอบ
ประกาศ ณ วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2566
อิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง