รัฐมนตรีหลายคนผวางานเข้า ชิ่งออกห้องประชุม ครม. วาระรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนใหญ่เห็นพ้องให้รอศาล “บิ๊กตู่” ทุบโต๊ะสั่งเอาออก “อธิรัฐ” ยอมถอน เชื่อ หวย 3 ตัว 6 ตัว ไม่ซ้ำรอยอดีต

ผู้สื่อข่าวรายงานภาพรวมการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (14 มี.ค. 2566) โดยช่วงเช้าก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ขึ้นไปพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล คาดว่าเป็นการหารือเรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.

ขณะที่ในการประชุม ครม.ครั้งนี้ ใช้เวลายาวนานที่สุดในรัฐบาลชุดนี้ ประมาณ 7 ชั่วโมง มีการพิจารณาวาระจำนวนมาก โดยตั้งแต่เริ่มการประชุม ครม. นายอธิรัฐ มีสีหน้าเคร่งเครียด และลุกออกจากเก้าอี้ออกไปพูดคุยโทรศัพท์บ่อยครั้ง แต่บรรยากาศเริ่มตึงเครียดในช่วงบ่าย หลังมีการบรรจุวาระรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าสู่การพิจารณาในวาระจร โดยเฉพาะในช่วงเวลา 14.00 น. ที่มีการแจกเอกสารเพื่อเตรียมเข้าสู่วาระการพิจารณา และมีรัฐมนตรีบางคนทยอยเดินทางกลับทางด้านหลังตึกสันติไมตรี

ต่อมาเวลา 14.15 น. นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางออกจากห้องประชุม พร้อมบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมไปก่อนแล้ว” ผู้สื่อข่าวจึงถามว่าถือเป็นการวอล์กเอาต์ได้หรือไม่ นายสินิตย์ ยอมรับว่า “ได้ และใช่เลย” แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังมีรัฐมนตรีนั่งอยู่ในห้อง ขณะที่เวลา 14.20 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาพักเบรก พร้อมกับยืนยันว่าจะอยู่ในห้องประชุม เพราะนายกฯ อยู่ ต้องอยู่กับนายกฯ จากนั้นเวลา 14.30 น. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง เดินทางกลับ โดยปฏิเสธว่าไม่ได้หนี และระบุว่าจะให้ทำอย่างไร เพราะมีประชุมพรรคพลังประชารัฐ ในเวลา 15.00 น.

...

อธิรัฐ รัตนเศรษฐ
อธิรัฐ รัตนเศรษฐ

กระทั่งเวลา 14.57 น. ที่ประชุม ครม. เริ่มพิจารณาวาระรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยเลขาธิการ ครม. เชิญผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้บริหาร รฟม. และตัวแทนอัยการสูงสุด ชี้แจงความเป็นมาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จากนั้นเลขาธิการ ครม. อ่านความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า เรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ควรรอให้มีความชัดเจน เช่นเดียวกับกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่าเรื่องนี้มีประเด็นฟ้องร้องอยู่ จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะถามความเห็นของ ครม.

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทักท้วงว่า อัยการสูงสุดให้ความเห็นว่าควรรอคำพิพากษา ต่อให้เข้ามาเป็นเรื่องเพื่อทราบก็ไม่รู้ว่าจะให้ทราบเรื่องอะไร เช่นเดียวกับ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่กล่าวเสริมว่า ควรรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองก่อน และไม่เห็นด้วยที่นำเสนอเรื่องนี้เข้ามา ขณะเดียวกันยังมีรัฐมนตรีอีกหลายคนแสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

วราวุธ ศิลปอาชา
วราวุธ ศิลปอาชา
วิษณุ เครืองาม
วิษณุ เครืองาม

ทางด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณา คือมีการล็อกสเปกหรือไม่ ซึ่งศาลปกครองตัดสินแล้วว่าไม่มีการล็อกสเปก และทำไมไม่รอผลการพิจารณาของศาลปกครองก่อน ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำตัดสินมาแล้วว่าไม่คุ้มครอง หากรอเวลาไปเรื่อยๆ ยิ่งเกิดความเสียหาย และถูกฟ้องเรื่อยๆ รวมถึงหากยุบสภาไปแล้วจะอนุมัติไม่ได้ ส่วนตัวเห็นว่า “ครม. ควรเห็นชอบ แต่เนื่องจากมีคดีค้างอยู่ในศาล จึงยังไม่ควรมีการอนุมัติให้ลงนามในสัญญา จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา” ซึ่งมีรัฐมนตรีหลายคนเห็นด้วยกับความเห็นของนายวิษณุ อาทิ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ทั้งนี้ หลังจากแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางราว 1 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ พูดตัดบทว่า “ผมตัดสินใจให้ถอนเรื่องไปก่อน รอให้ศาลพิจารณาได้ข้อยุติก่อน ส่วนเรื่องของอนาคตค่อยว่ากัน ขอโทษด้วยที่ต้องถอนเรื่องนี้ออกไป เข้าใจทุกฝ่าย ถ้าโครงการนี้ดีและไม่มีข้อครหา รัฐบาลหน้าก็มาดำเนินการต่อ ถ้าอยากอนุมัติเร็วๆ ก็ตั้งรัฐบาลให้ได้เร็วๆ” จากนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า หากจะถอนต้องให้นายอธิรัฐ เป็นผู้ขอถอนวาระดังกล่าวออก เพราะเป็นผู้เสนอ นายอธิรัฐ จึงขอถอนวาระออกจากที่ประชุม จากนั้นที่ประชุม ครม. จึงพิจารณาวาระอื่นต่อ

ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นอกจากนี้ ในระหว่างการพิจารณาวาระนำเสนอการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำปี 2565 หรือ สลากฯ 6 หลัก (Lottery 6: L6) - สลากฯ ตัวเลข 3 หลัก (Numbers 3: N3) โดยช่วงหนึ่ง นายวิษณุ ได้สอบถามประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดกองสลาก) ที่มาชี้แจงว่า การกำหนดประเภทใหม่นี้ยังเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลใช่หรือไม่ ยืนยันกับ ครม. ได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประธานบอร์ดกองสลากยืนยันว่าไม่ซ้ำรอยแน่นอน เพราะครั้งนี้เป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่ผิดหลัก ไม่เหมือนกับครั้งก่อนที่เป็นสลากกินรวบ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กำชับให้ช่วยดูแลอย่าให้มีการทุจริต และอย่าให้ขายเกินราคา

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า การประชุม ครม.วันนี้ คาดว่าจะเป็นการประชุมนัดสุดท้ายก่อนการยุบสภา โดยเมื่อเป็นรัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถอนุมัติงบประมาณ งบประมาณผูกพัน และนโยบายสำคัญได้อีก ดังนั้น กระทรวงต่างๆ จึงส่งเรื่องเข้ามาพิจารณารวมทั้งวาระพิจารณา วาระเพื่อทราบ และวาระพิจารณาจร รวมแล้วมากกว่า 100 วาระ ใช้เวลาในการประชุมร่วม 7 ชั่วโมง มีการอนุมัติโครงการที่ต้องใช้เงินงบประมาณ การลดภาษี การให้สินเชื่อ และการชดเชยวงเงินให้กับสถาบันการเงิน รวมวงเงินกว่า 173,850 ล้านบาท

สำหรับวาระที่เห็นชอบ อาทิ อนุมัติเพิ่มเงินค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ รวมทั้ง ผู้บริหารและสมาชิก อบต. รวมกว่า 18,570 ล้านบาท, ครม. เห็นชอบให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G/5G บนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) วงเงิน 61,628 ล้านบาท, อนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) มูลค่าลงทุน 24,060 ล้านบาท, ครม. เห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ให้สินเชื่อโครงการโคล้านครอบครัว วงเงิน 5,000 ล้านบาท เป็นต้น.