ปลัด มท. เปิดการอบรมทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 8 ย้ำต้องร่วมกันทำงานเป็นทีม “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” รับฟังปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

วันที่ 13 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. ที่ห้อง War Room อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ หัวข้อ "ทำไมต้อง CAST" ให้แก่ผู้รับการอบรมตามโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 8 โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ อาจารย์สุธร ศรีหิรัญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวมนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายอำเภอ และภาคีเครือข่ายของอำเภอที่เข้ารับการอบรมจาก 111 อำเภอ รวม 1,110 คน ร่วมรับฟังผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จำนวน 11 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา ลำปาง พิษณุโลก เพชรบุรี นครศรีธรรมราช นครนายก สระบุรี ยะลา และชลบุรี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้จัดโครงการฝึกอบรม “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ในปี 2566 มาแล้ว 7 รุ่น จำนวน 765 อำเภอ โดยการอบรมในครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 8 (รุ่นสุดท้าย) ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยทุกท่านมีความคาดหวังว่าภาคีเครือข่ายของอำเภอที่เป็นผู้เข้ารับการอบรมภายใต้การนำของท่านนายอำเภอ จะเป็นผู้นำการบูรณาการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอ ด้วยการมาใช้ชีวิตร่วมกันตลอดระยะเวลา 5 วัน 4 คืน และการทำความฝันที่จะเห็นพื้นที่อำเภอเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนของพี่น้องประชาชนกลายเป็นความจริงร่วมกัน ต้องเริ่มจาก “นายอำเภอ” ผู้เป็นผู้นำที่ต้องพิสูจน์ฝีมือ ด้วยการทุ่มเทและเอาใจใส่อย่างจริงจัง เพื่อเป้าหมายในการ Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนให้กับพื้นที่และประเทศชาติ

...

ที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนและทุกส่วนราชการมีความคาดหวังกับกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้นำการบูรณาการงานในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับความยอมรับนับถือในตัวผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะทุกท่านมีหมวกทั้งในฐานะหมวกผู้นำของพื้นที่ (Area Based) รวมทั้งรัฐบาลก็มีความคาดหวังในหมวกอีกใบหนึ่งในฐานะผู้นำการขับเคลื่อนแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติในทุกมิติ (Function) ของพื้นที่

นอกเหนือจากหมวกการเป็นผู้นำตามกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำของส่วนราชการในราชการบริหารส่วนภูมิภาคดำเนินนโยบายต่างๆ เช่นเดียวกันกับนายอำเภอที่เป็นผู้นำการขับเคลื่อนในระดับอำเภอ ซึ่งแน่นอนว่า “ผู้นำ” ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ “ต้องมีทีม” และต้องนำทีมลงไปรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน ดั่งที่ล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระพาสต้นลงพื้นที่ตรวจราชการดูแลสารทุกข์สุกดิบของพสกนิกรในเมืองต่างๆ

“ข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องมุ่งมั่นในการสร้างทีมงานที่มีแนวทางการทำงาน “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ร่วมกับทีม ทั้งทีมที่เป็นทางการ และทีมภาคีเครือข่าย ต้องไม่ทำงานคนเดียวแบบ One Man Show เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งหลักสูตร CAST : Change Agent Strategies Transformation นี้จะทำให้ทุกท่านได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการทำงาน ด้วยการสร้างทีมจาก 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ตามหลัก “บวร บรม ครบ” ภายใต้การนำของผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ลงพื้นที่ไปพบปะพี่น้องประชาชน ใกล้ชิดประชาชน เพื่อค้นหาปัญหาและกำหนดแนวทางไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ส่งเสริมพลังการมีส่วนร่วมให้เพิ่มพูน ทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืน

ทำหน้าที่ในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและในฐานะคนไทยที่ต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ดังเจตนาที่ท่านผู้ว่าราชการทุกจังหวัดได้ร่วมกับ UN ประจำประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน” เพื่อผลักดันให้เกิดสิ่งที่ดี Change for Good ให้กับประชาชนและประเทศชาติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ (UN SDGs) โดยเฉพาะในข้อที่ 17 (Partnership) ทำให้ทุกตารางนิ้วของประเทศไทยได้รับการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังคำกล่าวที่ว่า “No Plan B, Action Now” เพราะเรามีโลกใบเดียว เราต้องลงมือทำทันที” นายสุทธิพงษ์ กล่าว.