“อุตตม” แกนนำพรรคพลังประชารัฐ มองเศรษฐกิจไทยวันข้างหน้า เป็นความท้าทายรัฐบาลชุดใหม่ ชี้ ผลเลือกตั้งเป็นตัวกำหนดความสำเร็จ ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจคนทำหน้าที่รัฐบาล
วันที่ 5 มี.ค. นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง และแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ได้เผยแพร่ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ดร.อุตตม สาวนายน โดยมีเนื้อหาว่า ช่วงต้นปี มักมีการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของปีที่ผ่านมา รวมถึงการจับชีพจรสถานการณ์ในปีปัจจุบัน มีตัวเลขที่น่าสนใจ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการประเมินภาพเศรษฐกิจที่เป็นโจทย์สำคัญของคนไทยและรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง
โดยรายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2565 ที่ผ่านมาในอาเซียน สะท้อนการเริ่มฟื้นตัวของประเทศต่างๆ อย่างไรก็ดี สังเกตว่า เศรษฐกิจไทย ขยายตัวต่ำกว่าประเทศอื่นพอสมควรในทุกไตรมาส ซึ่งบ่งชี้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา ยังไม่เข้มแข็งเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ในอาเซียนที่กล่าวได้ว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระนาบการพัฒนาใกล้เคียงกัน และขณะที่การฟื้นตัวของเราในปีนี้ ฝากความหวังไว้มากกับการขยายตัวของการส่งออก แต่ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา หดตัวถึงร้อยละ 4.5 (เงินดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2565 ทั้งเป็นการลดลงในลักษณะเช่นนี้ 4 เดือนติดต่อกัน เริ่มจากไตรมาส 3 ปลายปีที่แล้ว
แม้ยังมีเวลาอีกหลายเดือนที่การส่งออกจะพลิกตัว แต่ในภาวะที่ประเทศคู่ค้าของเราต่างกำลังเผชิญกับเศรษฐกิจโลก ที่ยังเสี่ยงกับการถดถอย ข้อมูลเหล่านี้เป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยมีความท้าทายสำคัญรออยู่ข้างหน้า ซึ่งการบริหารจัดการที่ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน
...
เมื่อพิจารณาสถานการณ์ในประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการรายเล็กรายกลางซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดในระบบเศรษฐกิจของประเทศ และได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา ข้อมูลการสำรวจ MSME ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สะท้อนว่า ผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ชัดเจน โดยเกือบครึ่งหนึ่งประเมินว่า เศรษฐกิจปีนี้จะทรงตัวหรือแย่ลง ขณะที่ร้อยละ 41.8 มองว่า ดีขึ้นเล็กน้อยและร้อยละ 13.5 เท่านั้นที่มองว่า จะดีขึ้น มีสาเหตุหลักเนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเรื่องกำลังซื้อในประเทศและต้นทุนที่สูงขึ้น
การที่เราคาดหวังว่า ในอนาคตเศรษฐกิจไทยจะกลับไปขยายตัวได้เต็มศักยภาพ เช่น ที่ร้อยละ 5-6 ต่อปี ดังที่มีผู้ประเมินไว้นั้น ถามว่ามีความเป็นไปได้ไหม โดยส่วนตัวก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ แต่เราต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสม และอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง สิ่งใดที่ควรแก้ไขปรับปรุงก็ต้องรีบดำเนินการ เรื่องใดที่ควรเริ่มทำอย่างจริงจังเพื่อความเข้มแข็งในอนาคตก็ต้องเร่งทำ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วนให้ประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น เรื่องหนี้สิน การจัดหาทุนใหม่ การส่งเสริมเพิ่มทักษะอาชีพ รวมถึงการเพิ่มความสามารถของประเทศในเวทีโลก เช่น การอัพเกรดเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเดิมและการพัฒนาเครื่องยนต์ใหม่ๆ การพัฒนาแรงงานทุกระดับ
วันนี้การที่ประเทศไทยจะกลับเข้าสู่เส้นทางสู่การพลิกฟื้นและการเติบโตของเศรษฐกิจที่เต็มศักยภาพนั้น การเลือกตั้งที่จะมาถึงจะมีส่วนอย่างมาก ที่จะกำหนดความสำเร็จ หากเราได้รัฐบาลที่สามารถรวบรวม และผนึกสรรพกำลังจากทุกฝ่ายได้อย่างราบรื่นตั้งแต่ต้น ทั้งจากภาคประชาชนที่เป็นผู้ตัดสินใจเลือก ผู้จะมาทำหน้าที่รัฐบาล ภาคเอกชนผู้ประกอบการ นักวิชาการ ฯลฯ ก็จะทำให้รัฐบาลนั้นๆ ทำงานอย่างมีพลังเป็นปึกแผ่น สามารถจัดการปัญหาเร่งด่วนที่คนไทยเผชิญอยู่ และนำพาประเทศก้าวหน้าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สำเร็จไม่น้อยหน้าใคร