“อรรถวิชช์” ยื่น กกต. ซ้ำ ค้านแบ่งเขตรูปแบบ 6-8 ชี้ ผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 27 ขอเร่งสรุปเขต พรรคการเมืองเดือดร้อน ทำไพรมารีโหวตไม่ได้ ติดป้ายข้ามเขตกัน
วันที่ 3 มี.ค. 2566 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เข้ายื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครอีกครั้ง เพื่อคัดค้านการแบ่งเขตเลือกตั้งรูปแบบที่ 6, 7 และ 8 เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีการตีความเกี่ยวกับราษฎรในการแบ่งเขตเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีการสรุปการแบ่งเขตเร็วๆ นี้ จึงมาหารือกับ กกต. อีกครั้งว่า การแบ่งเขตรูปแบบที่ 1–5 เป็นไปตามขั้นตอนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่รูปแบบที่ 6, 7 และ 8 ไม่ได้เป็นไปตามราชกิจจานุเบกษา ขัดต่อมาตรา 5 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งการแบ่งเขตรูปแบบที่ 6, 7 และ 8 แบ่งออกมาอย่างพิสดาร โดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 27 (1) และ (2) ให้หลักการ 2 เรื่อง คือ ต้องมีความเป็นชุมชนเดียวกัน และคำนึงถึงการเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันมาก่อน
“ตอนนี้ระบบเลือกตั้งเป็นระบบแบ่งเขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน มีลักษณะเช่นเดียวกับปี 2557 อยู่แล้ว ถ้าใช้เกณฑ์แบ่งเขตใกล้เคียงตามนี้ก็จบแล้ว กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ชัดยิ่งกว่าชัด ทุกพรรคอ่านกันมาแบบนี้ แบบที่ 1-5 ไม่มีใครคัดค้าน แต่แบบที่ 6, 7 และ 8 วิธีการผิด ขัดกฎหมายอีกด้วย ส่วนเรื่องความห่างของประชาชน 10% เป็นแค่เกณฑ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ได้กำหนดชัดเจนในกฎหมาย ก็เอาเกณฑ์นี้มาเทียบกับแบบที่ 1-5 ในรูปแบบที่ใกล้เคียงที่สุดก็ได้แล้ว ไม่ใช่จะเอามาใช้เป็นตัวหลักในการระเบิดเขตเป็นรูปแบบ 6, 7 และ 8 ไม่ได้”
...
นายอรรถวิชช์ ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า รัฐบาลเหลือเวลาทำงานไม่ถึง 20 วัน การแบ่งเขตต้องจบ ตอนนี้พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตคัดเลือกผู้สมัครไม่ได้ เขตไม่ชัดเจน ป้ายหาเสียงก็ติดไขว้กันไปกันมา พรรคการเมือง ราษฎร ประชาชน สับสนมาก อย่าทำให้ประชาชน และหากผลแบ่งเขตออกมาเป็นรูปแบบที่ 6, 7 และ 8 ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย เพราะถือว่า กกต. ทำผิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เขียนชัดให้คำนึงถึงเขตเลือกตั้งเก่า และความเป็นชุมชนเดียวกัน ที่สำคัญการแบ่งเขตเลือกตั้ง 2557 ไม่มีการเอาคนต่างด้าวเข้ามาปน ถ้าแบ่งตามปี 2557 ก็จบแล้ว พอศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมาก็อย่าทำให้สับสนกว่านี้ ประชาชนอยากเห็นการตีความกฎหมายให้ชัดเจนให้เกิดการเลือกตั้งได้ ให้เชื่อมโยงกับเขตที่เคยเป็น ให้มีความผูกพันกับประชาชนในพื้นที่.