เกิดวิวาทะกันว่าเงินต่างๆที่พรรคการเมืองแย่งกันสัญญาจะเพิ่มให้ประชาชน เป็นเงินลดแลกแจกแถมตามนโยบายประชานิยม เป็นอะไรกันแน่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เถียงว่าไม่ใช่เงินแจก เป็นสวัสดิการรัฐ
โดยปกติประเทศที่ถือว่าเป็น “รัฐสวัสดิการ” มีเงินสวัสดิการสำหรับประชาชน เช่น กลุ่มประเทศในสแกนดิเนเวีย นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก และฟินแลนด์ จะเริ่มต้นด้วยการให้ประชาชนมีเงินออมในขณะที่ทำงาน และมีระบบภาษีก้าวหน้า เก็บภาษีจากผู้มั่งคั่งในอัตราสูง เพื่อเป็นสวัสดิการ
แต่ระบบภาษีของประเทศไทยยังล้าหลัง และรายได้จากภาษีส่วนใหญ่ได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม เก็บจากการใช้จ่าย ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นยาจกหรือเศรษฐี ในอัตราเท่ากันคือ 7% รัฐบาลปัจจุบันถูกโจมตี “อุ้มเจ้าสัว” ไม่มีเงินรัฐสวัสดิการอย่างเพียงพอ อาจต้องกู้เงินมาแจก
สองพรรคพี่น้อง 2 ป. เคยอยู่พรรค พลังประชารัฐ (พปชร.) ด้วยกันมา ขณะนี้แยกทางกันเดิน ซ้ำยังแย่งสัญญาจะเพิ่มการแจก พปชร. ประกาศเพิ่มเงินผู้ถือบัตรคนจนจากเดือนละ 200–300บาท เป็น 700 รทสช.เกทับเป็นเดือนละ
1,000 บาท และแย่งกันขึ้นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วย
ทั้งสองพรรคต่างยืนยัน ไม่ใช่เงินซื้อเสียงเลือกตั้ง แต่เป็นสวัสดิการรัฐ มอบให้แก่ประชาชน แต่น่าสงสัย ทำไมถึงเพิ่งจะมาคิดได้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง กว่า 8 ปีที่ครองอำนาจ ทำไมไม่เพิ่มสวัสดิการให้ประชาชน ทำไมจึงไม่คิดที่จะปรับปรุงให้เป็นสวัสดิการที่แท้จริง เหมือนรัฐสวัสดิการที่แท้
เห็นได้ชัดว่าการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคส่วนใหญ่ต่างสัญญาจะดำเนินนโยบายประชานิยม ส่วนใหญ่ไม่บอกว่าจะเอาเงิน แต่ยังเคราะห์ดีที่มีอย่างน้อย 1 พรรค คือพรรคชาติพัฒนากล้า ประกาศจะหาเงินเข้าประเทศให้ได้ถึง 5 ล้านล้านบาท เป็นคำสัญญาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรค
...
พรรคชาติพัฒนากล้าสัญญา จะหาเงินเข้าประเทศ จากเศรษฐกิจ 12 เรื่อง เช่น เศรษฐกิจสีเหลืองจากซอฟต์เพาเวอร์ เช่น กีฬา ดนตรี เศรษฐกิจสีเขียวจากรถยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจสีเทาให้ถูกกฎหมาย เช่น ชีวิตกลางคืนและหวย เศรษฐกิจสีขาว เช่น การท่องเที่ยว แต่จะทำได้และทำต่อหรือไม่.