"สมศักดิ์" แจงสภาฯ ออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันทรมานและอุ้มหาย 4 มาตรา เป็นเวลา 7 เดือน เหตุ สตช.ไม่มีความพร้อม "งบประมาณ-อุปกรณ์-บุคลากร" ยันฐานความผิดการทรมาน-อุ้มหายยังมีอยู่ หากพบเจ้าหน้าที่ทำผิด ลงโทษเต็มที่ ไม่ได้เว้นการลงโทษ
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 66 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นนัดพิเศษ เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง เป็นประธานการประชุม
โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้ชี้แจงว่า กระทรวงยุติธรรมได้ผลักดันกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ตั้งแต่ปี 2550 แต่ก็สะดุดมาโดยตลอด จนมาถึงยุคตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ได้เสนอกฎหมายนี้เข้า ครม.ใหม่ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 63 และเสนอกฎหมายเข้าสภา เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 64 จนทุกฝ่ายเห็นชอบ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 65 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 66
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขอยืนยันว่า กระทรวงยุติธรรมมีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ทั้งการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนกฎหมาย การจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน การสร้างการรับรู้ แต่กระทรวงยุติธรรมได้รับหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 ขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายในหมวด 3 ซึ่งมีทั้งหมด 8 มาตรา ออกไปก่อนแบบไม่มีกำหนด เนื่องจากมีเหตุขัดข้อง คือ 1.ขาดงบประมาณและอุปกรณ์ 2.ขาดความพร้อมของบุคลากร และ 3.ขาดมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงาน
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จึงได้มีการพิจารณาเหตุขัดข้องของตำรวจ ถึงผลร้ายหากปล่อยให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความไม่พร้อม อาจส่งผลต่อชีวิตร่างกายของประชาชนโดยตรง รวมถึงจะส่งผลไม่ปลอดภัยต่อสาธารณะ ที่ทำได้ไม่สมบูรณ์ อาจเกิดการโต้แย้งในการดำเนินคดีได้ โดยจากข้อเท็จจริง ถือเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่ไม่อาจเลี่ยงได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 จึงขอเสนอพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมีสาระสำคัญ คือ การเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย จำนวน 4 มาตรา คือ มาตรา 22-25 ออกไปให้บังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมความพร้อม ในการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้
...
"ผมขอเรียนสภาผู้แทนราษฎรว่า การตราพระราชกำหนดนั้น เป็นการขยายเวลากำหนดบังคับใช้มาตรา 22-25 เป็นการชั่วคราว หรือประมาณ 7 เดือน ส่วนฐานความผิด การกระทำทรมาน หรืออุ้มหาย ยังคงมีอยู่และยังบังคับใช้อย่างเต็มที่ โดยหากเจ้าหน้าที่ กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ก็จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ไม่ได้เว้นการลงโทษแต่อย่างใด รวมถึงปัจจุบัน หน่วยงานต่างๆ ก็ได้เร่งขับเคลื่อน เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" รมว.ยุติธรรม กล่าว