การเมืองใกล้จะถึงโค้งสุดท้าย คงไม่ต้องรอให้ครบวาระของสภาในวันที่ 23 มี.ค. อย่างที่ทราบกันอยู่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะใช้อำนาจนายกฯ ในการยุบสภาวันที่ 15 มี.ค.นี้ ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวจากวงในรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยุบสภาหลังจากเสร็จงานเอเปกเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ยื้อเวลากันว่าจนเกือบจะครบเทอม พอดี ก็ยังหวั่นๆว่า นายกฯอาจจะไปยุบสภาเอาวันที่ 21-22 มี.ค.ก็ได้ หรือดีไม่ดีเกิดเปลี่ยนใจไม่ยุบสภาขึ้นมา ส.ส.ที่จะเตรียมย้ายพรรคโค้งสุดท้าย ท้ายสุดจริงๆ คือกลางเดือน มี.ค. คงหน้ามืดไปตามๆกัน

ผู้นำประเทศ ผู้นำรัฐบาล หรือนายกฯ นั้นมีความสำคัญกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็เพราะว่า มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร เช่น การประชุม ครม. นายกฯมีสิทธิที่จะเอาวาระการประชุมเข้าหรือไม่เข้าหรือถอดออกจากการประชุมได้ ที่เรียกว่าวาระจร และยังมี อำนาจถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ ในการที่จะยุบสภาเมื่อไหร่ก็ได้ ที่สำคัญที่สุด คนที่เป็นผู้นำประเทศก็คือความหวังของประชาชน

การเลือกตั้งครั้งนี้เลือกพรรคและเลือกคนแยกกันคนละใบ ไม่จำเป็นต้องเลือกพรรคเดียวคนเดียวกัน อาจจะเกิดความสับสนที่ต่างจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเข้าใจวิธีเลือกตั้งให้ทั่วถึง เข้าใจว่า การเลือกตั้งไม่น่าจะมีอุปสรรคใดๆ ยังรอแค่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ามีขอบเขตแค่ไหนถ้าวันที่ 3 มี.ค.นี้ไม่มีปัญหาอะไรก็แสดงว่า ทางโล่งโปร่งสะดวก นักการเมืองทั้งเก่าทั้งใหม่ไปลุ้นอนาคตตัวเองในสนามเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ค.ได้เลย

มีหลายพรรคที่ยังไม่ยอมเปิดชื่อ แคนดิเดตนายกฯตัวจริงเสียงจริง เข้าใจว่าน่าจะเป็นยุทธศาสตร์ในการหาเสียงรอให้ กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจนก่อนค่อยเปิดเผยชื่อ ยกเว้นที่มีความชัดเจนอยู่แล้วเช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ยังรอว่า จะมีแคนดิเดตคนเดียวหรือ 3 คนเต็มคาราเบล เพื่อไทย ที่อย่างน้อยสองชื่อ แพทองธาร ชินวัตร กับ เศรษฐา ทวีสิน คงหนีไม่พ้น ประชาธิปัตย์ จะมี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ คนเดียวหรือจะมีชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ชวน หลีกภัย ด้วยหรือไม่ยังไม่ชัดเจนเช่นกัน รวมทั้ง ก้าวไกล นอกจากชื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แล้ว จะมีชื่อคนอื่นอีกหรือไม่

...

ที่น่าแปลกคือผลโพลที่ออกมา จะมีชื่อนายกฯสลับกัน ระหว่าง แพทองธาร กับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จริง แต่กลับไม่เลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ ไปเลือกเพื่อไทย กับก้าวไกล เป็นอันดับ 1-2 รวมทั้งภาคใต้ที่คะแนนนิยมลุงตู่มาเป็นที่ 1 ก็ตาม และที่แปลกอีกอย่างทำไม จุรินทร์ และ ประชาธิปัตย์ จึงไม่มีคะแนนนิยมในภาคใต้

แต่ถ้าไปถามนักธุรกิจและชาวบ้านทั่วไปอยากได้รัฐบาลแบบไหนผู้นำแบบไหน จะมีคำตอบที่ตรงกันคือขอรัฐบาลที่มีความมั่นคงพร้อมที่จะรับมือความเปลี่ยนแปลงทั้งในและต่างประเทศ สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ส่วนนโยบายประชานิยม เป็นนโยบายชั่วคราว ควรใช้เมื่อจำเป็น ใช้บ่อยไปจะเกิดผลระยะยาว ควรช่วยเหลือประชาชนให้แข็งแรงยืนอยู่ด้วยตัวเองได้มากกว่าการลดแลกแจกแถม อยากเห็นอนาคตที่มั่นคง

เป็นความหวังเล็กๆของชาวบ้านที่ยังโง่จนเจ็บ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th