ฝุ่นเกิน 70 พื้นที่ เริ่มมีผลกระทบ 39 และกระทบแล้ว 31 พื้นที่ “ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม.ชี้ ลมใต้หอบฝุ่นขึ้นเหนือ สถานการณ์ กทม.ดีขึ้น คาด 5-6 ก.พ. ลมใต้จะแรงยิ่งขึ้น สั่ง เดินหน้ารถฉีดน้ำในชุมชน
วันที่ 3 ก.พ. 66 ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กรุงเทพมหานคร รายงานสรุปผลการตรวจวัด PM 2.5 เวลา 05.00-07.00 น. ตรวจวัดได้ 61-116 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 85.2 มคก./ลบ.ม. ค่า PM 2.5 ทั้งนี้ ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 61-105 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) เกินมาตรฐานจำนวน 70 พื้นที่ อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 39 พื้นที่ และมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 31 พื้นที่ ได้แก่
1.ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ 105 มคก./ลบ.ม.2.เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 มีค่า 104 มคก./ลบ.ม. 3.ทางเข้าสนามหลวง 2 103 มคก./ลบ.ม.4.ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม 101 มคก./ลบ.ม.5.สี่แยกหน้าสำนักงานเขตสาทร ซอย ถนนเซนต์หลุยส์ 101 มคก./ลบ.ม. 6.เขตยานนาวา ใกล้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ 100 มคก./ลบ.ม. 7.ภายในสำนักงานเขตหลักสี่ 95 มคก./ลบ.ม. 8.เขตปทุมวัน หน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์ 93 มคก./ลบ.ม.
...
9.เขตสัมพันธวงศ์ วงเวียนโอเดียน 92 มคก./ลบ.ม.10.ภายในสำนักงานเขตคลองเตย 91 มคก./ลบ.ม. 11.แยกมไหสวรรย์ 91 มคก./ลบ.ม. 12.ด้านหน้าโรงพยาบาลลาดกระบัง 90 มคก./ลบ.ม. 13.เขตคลองสาน บริเวณหน้าห้องสมุดใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน 90 มคก./ลบ.ม.14.เขตตลิ่งชัน ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ตัดกับถนนบรมราชชนนี 90 มคก./ลบ.ม.และ 15.ภายในสำนักงานเขตบางขุนเทียน 90 มคก./ลบ.ม. เป็นต้น
ทั้งนี้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง(คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่น PM 2.5 คาดว่าอัตราการระบายอากาศในช่วงวันที่ 2-4 ก.พ. 66 จะไม่ดี/อ่อน เนื่องจากเพดานอากาศต่ำ เกิดสภาวะอากาศปิดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลงสลับกันในช่วงนี้ สำหรับในช่วงวันที่ 5-8 ก.พ. 66 คาดว่าอัตราการระบายอากาศจะดี มีฝนบางพื้นที่ จากทิศใต้ และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยพัดเข้ามาปกคลุมแทนที่ลมหนาว ส่วนมวลอากาศเย็นที่แผ่ปกคลุมเริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบน มีอุณหภูมิสูงขึ้น กลางวันอากาศร้อน ส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง PM 2.5 มีแนวโน้มลดลง
ที่ศูนย์ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า หลังจากเวลา 22.00 น.วานนี้ สถานการณ์ฝุ่นเริ่มดีขึ้นมาก เนื่องจากลมเปลี่ยนทิศ มีลมทางใต้พัดขึ้นมา (ลมว่าว) แรงขึ้น ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา สถานการณ์ฝุ่นสูงเนื่องจากแรงลมตะวันออกพัดปะทะลมใต้ ทำให้ฝุ่นลอยวนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันลมใต้มีกำลังแรงกว่า พัดอากาศจากทะเลขึ้นมาแทนที่ ทำให้ฝุ่นจากกรุงเทพฯ เริ่มขยับตัวเข้าเขต จ.พระนครศรีอยุธยา ขึ้นไปทิศเหนือของประเทศไทยมากขึ้น จากการคาดการณ์ ช่วงหลังวันที่ 5-6 ก.พ. ลมใต้จะพัดแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงลมยังมีการปะทะและผันผวน ต้องเฝ้าระวังอีก 1-2 วัน
ข้อมูลอัตราการระบายอากาศ (เพดานชั้นบรรยากาศ) ในวันนี้สูงกว่า 2,000 เมตร จากการคาดการณ์ วันที่ 4-7 อัตราการระบายอากาศจะสูงขึ้นถึง 4,000 เมตร เป็นผลดีต่อการระบายฝุ่นและทำให้สภาพอากาศดีขึ้น ทั้งนี้ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง การออกพื้นที่กลางแจ้งควรสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง สภาพอากาศในปัจจุบันยังเป็นอันตรายอยู่ แต่ไม่รุนแรงเท่าเมื่อวาน (2 ก.พ.) โดยคาดการณ์ว่า ช่วงบ่ายวันนี้มีแนวโน้มฝุ่นสูงขึ้น
ทั้งนี้ ค่าฝุ่นจากกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ประเมินค่าฝุ่นแบบเฉลี่ยย้อนหลัง 24 ชั่วโมง ซึ่งระบุค่าฝุ่นเฉลี่ยของเมื่อวานไว้ด้วย ทำให้ตัวเลขค่าฝุ่นแสดงผลช้ากว่าความเป็นจริง แต่หากติดตามสถานการณ์ฝุ่นแบบรายชั่วโมงในปัจจุบัน จะพบว่าตัวเลขค่าฝุ่นลดลง สภาพอากาศดีขึ้น
นายชัชชาติ กล่าวว่า วานนี้ได้ทดลองนำรถฉีดละอองน้ำบรรเทาฝุ่นทั้งหมด 6 คันของ กทม. ไปใช้ที่สวนเบญจกิติ พบว่า ขณะฉีดน้ำค่าฝุ่นลดลงจาก 160 มคก./ลบ.ม. เหลือ 97 มคก./ลบ.ม. แต่เมื่อเลิกฉีดน้ำค่าฝุ่นก็กลับมาสูงเท่าเดิม เนื่องจากปริมาณฝุ่นสูง อาจต้องใช้เฉพาะจุด เช่น ชุมชนหนาแน่น หรือจุดที่มีกลุ่มเปราะบาง จะช่วยได้ในระดับหนึ่งหากฉีดอย่างต่อเนื่องและใช้น้ำสะอาด โดยวันนี้จะเริ่มใช้รถฉีดน้ำที่เขตคลองเตย และตามชุมชนต่างๆ ยืนยันว่า กทม.ใช้น้ำสะอาดจากการประปา ปริมาณน้ำคันละ 10,000 ลิตร ฉีดต่อเนื่องได้หลายชั่วโมง ไม่เป็นอันตรายต่อการสัมผัส ข้อดีของการฉีดน้ำคือ สร้างความชุ่มชื้น ลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นบนพื้น
ส่วนจุดที่มีการเผาทั่วประเทศ พบว่า มี 1,500 จุด ปัจจุบันลดลงเหลือ 1,164 จุด ส่วนใหญ่พบรอบๆ กรุงเทพฯ และประเทศเพื่อนบ้าน จากการตรวจสอบ ลมใต้ที่พัดผ่านทะเลขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ ไม่พัดผ่านจุดที่มีการเผาไหม้ ทำให้สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้น ทั้งนี้ หลังวันที่ 5 ก.พ.เป็นต้นไป หากลมใต้พัดสม่ำเสมอ สถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพฯ จะดีขึ้น