โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ สั่งการเดินหน้าแผน “3 พื้นที่ 7 มาตรการ” และ ประเมินสถานการณ์รับมือฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) วางแผน แก้ไขปัญหาในทุกมิติ ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ยิ่งปีนี้ กรมอุตุฯ ประเมินอากาศจะแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา
วันที่ 3 ก.พ. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับ และสั่งการให้เดินหน้าแผน “3 พื้นที่ 7 มาตรการ” รับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ ทั้งในระยะยาวสั้น และระยะยาว รวมทั้งสั่งการให้ประชาสัมพันธ์สื่อสารให้ความรู้ ความเข้าใจ แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5 พร้อมแจ้งเตือนถึงความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ที่มีความรุนแรงเกิดจาก ภาพรวมของพื้นที่ ทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของฝุ่นละออง และเป็นช่วงรอยต่อฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน สภาวะอากาศนิ่ง ลมสงบ ส่งผลต่อการสะสมของฝุ่นละอองในบรรยากาศ ทำให้ระดับฝุ่นละอองมีค่าสูงขึ้น อีกทั้งอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงเป็นปัจจัยเสริมทำให้ PM 2.5 อาจมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามสอบถามการแก้ไขปัญหาการทำงานของทุกหน่วยเป็นระยะ เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
...
กระทรวงสาธารณสุข กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากจังหวัดใดที่มีค่าฝุ่นเกิน 51 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center : PHEOC) เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์อย่างเป็นระบบ ส่วนจังหวัดที่มีค่า PM 2.5 ระหว่าง 37.6-50 มคก./ลบ.ม. ให้เปิดศูนย์บัญชาการสถานการณ์ (OC) ระดับจังหวัดรองรับ รวมถึงให้เร่งรัดสื่อสารความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5 แจ้งเตือนถึงความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพ
กระทรวงคมนาคม ยกระดับการดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การออกตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียของรถบรรทุกและรถโดยสารในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การตรวจสภาพรถบรรทุกและรถโดยสาร การตรวจสอบการดำเนินการของสถานตรวจสภาพรถ การตรวจสอบยานพาหนะของหน่วยงานราชการ และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check) ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS) เป็นต้น รวมทั้งขอความร่วมมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรเพื่อลดปริมาณการเผาในพื้นที่ ทั้งการเคาะประตูบ้านแจ้งข่าวทำความเข้าใจ ตลอดจนกำชับให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในแต่ละพื้นที่แบบครบวงจร ทั้งการชิงเก็บ ลดเผา และการใช้แอปพลิเคชัน Burn Check เพื่อลงทะเบียนและจองเวลาในการเผาล่วงหน้า เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และได้นำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ให้ความเห็นชอบและออกเป็นประกาศ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศให้เข้มงวดขึ้น โดยกรมควบคุมมลพิษจะมีการประกาศใช้ กำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ใหม่ จากเดิมประเทศไทยจะใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง กำหนดค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) เป็น ให้ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. และกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. โดยจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 โดยจะส่งผลให้มาตรการการควบคุมการปล่อยมลพิษโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง รถยนต์ จะมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อลดอัตราการปล่อยมลภาวะออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการการควบคุมและลดปริมาณการเผาอ้อยหรือการเผาป่า
“รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ กำหนดแนวทาง และมาตรการรับมือสถานการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในทุกมิติ พร้อมกับได้เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุก แจ้งเตือน รวมทั้งยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ขอความร่วมมือประชาชนให้หันมาใช้รถสาธารณะให้มากขึ้น หมั่นตรวจบำรุงรักษารถ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้สวมใส่หน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เพื่อป้องกันตนเองจากฝุ่น” นายอนุชาฯ กล่าว