สภากรุงเทพมหานคร เห็นชอบให้ กทม. เร่งรัด รฟม. ปรับปรุงพื้นผิวจราจรถนนจรัญสนิทวงศ์ และถนนเพชรเกษม ก่อนส่งมอบพื้นที่ตามเงื่อนไข รองผู้ว่าฯ กทม. แจง อยู่ระหว่างจัดการทางเท้า จึงยังไม่ได้ส่งมอบ

วันที่ 18 มกราคม 2566 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ปี 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) คณะผู้บริหาร กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาญัตติของ นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยส่งมอบพื้นที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ และถนนเพชรเกษม ให้กับกรุงเทพมหานครตามเงื่อนไข

ทั้งนี้ ตามที่กรุงเทพมหานครได้มอบพื้นที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ และถนนเพชรเกษมให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ โดยจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ รฟม. เข้าทำการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางชื่อ-ท่าพระ ซึ่ง รฟม. ทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 และโครงการเสร็จสิ้นโดยเริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่ พ.ศ. 2562 แต่ยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ถึงถนนเพชรเกษมให้กับกรุงเทพมหานคร

วิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่
วิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่

...

ปัจจุบันสภาพถนนจรัญสนิทวงศ์ ตั้งแต่จรัญสนิทวงศ์ ซอย 13 ผ่านสถานีรถไฟฟ้าท่าพระ ไปยังถนนเพชรเกษม จนถึงสถานีรถไฟฟ้าหลักสอง มีการราดแอสฟัลต์คอนกรีตทับถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและฝาท่อระบายน้ำ บางจุดผิวจราจรชำรุด มีหลุมบ่อทำให้เกิดน้ำขัง การตอกเสาเข็มใต้ฐานรากของโครงสร้างที่อยู่ในเกาะกลางทำให้ถนนมีลักษณะเป็นลูกคลื่น เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรของประชาชน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด จึงขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดให้ รฟม. ส่งมอบพื้นที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ และถนนเพชรเกษม ให้กับกรุงเทพมหานครตามเงื่อนไข

“ถนนเส้นนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยมาแล้วตั้งแต่ปี 2562 ผ่านมาแล้ว 4-5 ปี แต่ยังไม่มีการส่งมอบแต่อย่างใด สภาพถนนเพชรเกษมที่ชำรุดก็ทำให้มีผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ประสบอุบัติเหตุตกหลุมมาแล้ว จึงขอให้ รฟม. รับผิดชอบในการปรับปรุงพื้นที่ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพราะยังคงเป็นพื้นที่ของ รฟม. ซึ่ง กทม. ไม่สามารถเอางบประมาณไปซ่อมแซมได้”

วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.
วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.

ทางด้าน รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า สาเหตุที่ รฟม. ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ เนื่องจากยังไม่สามารถเว้นระยะความกว้างทางเท้าบริเวณทางขึ้นลง 1.5 เมตร ได้ตามที่กำหนด โดยมีจุดที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้อีก 25 จุด ซึ่งอยู่ระหว่างการเวนคืนพื้นที่ ทั้งนี้ กทม. จะเร่งรัดให้ รฟม. จัดซ่อมถนนให้เข้มงวดและตรวจรับงานอย่างเคร่งครัด ในส่วนของการซ่อมแซมถนนซึ่งผิวถนนเดิมเป็นคอนกรีต การซ่อมจะดำเนินการเทคอนกรีตเป็นช่วงและลงแอสฟัลต์ทับหน้าเพื่อให้ผิวถนนเรียบ โดย กทม. จะตรวจคุณภาพการก่อสร้างและผลลัพธ์ของงานให้เคร่งครัด.