ส.ส. พรรคพลังท้องถิ่นไท เรียกร้อง นายกฯ แก้ทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบในหน่วยงานภาครัฐอย่างจริงจัง เซ่นปมอธิบดีกรมอุทยานฯ พร้อมปูดมีถึง 20 มหาวิทยาลัย ไม่ผ่านประเมิน

วันที่ 6 มกราคม 2566 ที่อาคารรัฐสภา ศาสตราจารย์โกวิทย์ พวงงาม ส.ส. พรรคพลังท้องถิ่นไท แถลงข่าวเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งรัดการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบของหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ อย่างจริงจัง พร้อมทั้งตรวจสอบพฤติกรรมของข้าราชการทุกระดับที่มีพฤติกรรมในการหาผลประโยชน์ หรือการให้ และรับสินบน ทั้งผู้ให้และผู้รับ

ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นข่าวเรียกรับสินบน ซึ่งอยู่ระหว่างการตั้งกรรมการสอบ และตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ในขณะนี้นั้น ทำให้เห็นว่า หน่วยงานภาครัฐยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การแสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินโดยวิธีการต่างๆ การเรียกรับสินบน การให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนเพื่อแลกกับตำแหน่ง

ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ เร่งรัด การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบของหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการหามาตรการแนวทางการตรวจสอบทุกองค์กรว่าจะมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ เพื่อหามาตรการในการป้องกันและแก้ไขให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม เพราะแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้วก็ตาม ซึ่งเห็นว่าผลการประเมินส่วนใหญ่ในปีงบประมาณ 2565 มีผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานโดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี และดีมาก ก็ตาม แต่ก็ยังตรวจสอบพบการทุจริตในหลายหน่วยงาน

...

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผลการประเมินของมหาวิทยาลัยในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาประมาณ 20 มหาวิทยาลัย ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ITA ทั้งๆ ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้วางหลักแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาไว้เป็นมาตรการในทางปฏิบัติไว้แล้ว หรือแม้แต่หลายมหาวิทยาลัยได้ผลการประเมินได้ระดับดี หรือดีมาก ก็ยังมีปัญหาความขัดแย้งในลักษณะการแต่งตั้งผู้บริหารระดับอธิการบดี คณบดี แม้กระทั่งการสรรหากรรมการมหาวิทยาลัย นายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งสะท้อนถึงความไม่โปร่งใสของประเทศไทย ทั้งในลักษณะการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบที่ยังคงดำรงอยู่ในหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ โดยปัญหาเหล่านี้รัฐบาลจะต้องเร่งรัดเข้าไปดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดและจริงจัง เพื่อจะทำให้ภาพลักษณ์และค่าคะแนนความโปร่งใสของประเทศสูงขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต.