“ชวน” ห่วง ”ธนกิจการเมือง” เฟื่องฟู ย้ำ ต้อง รัฐบาลและ ส.ส.ซื่อสัตย์ ถึงไปรอด ชี้ รธน.ปี 2560 ปราบโกงไม่ได้จริง ซ้ำส่อโกงเพิ่ม แนะ ไม่รับเงินซื้อเสียง ดีที่สุด ชี้ นักการเมืองโกงจับมือข้าราชการโกง บ้านเมืองพัง
เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2566 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่มีระบบธนกิจการเมือง หรือธุรกิจการเมืองเข้ามามาก ว่า ขอยืมคำพูดเพื่อน ส.ส.มาพูดว่า การเลือกตั้งเที่ยวหน้าที่จะถึงนี้ น่าจะใช้เงินซื้อหนักกว่าเดิมในการใช้เงิน คำขวัญวันเด็กในปี 2566 ตนจึงใช้คำว่า ประเทศรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมืองสุจริต ขณะเดียวกันสภาฯ ก็ทำโครงการบ้านเมืองสุจริตให้มีความต่อเนื่อง หากเราดูที่ผ่านมา คนที่ไปทำโพลถามชาวบ้าน เรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะมาเป็น อันดับ 1 แต่ปัจจุบันอยากให้แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันก่อนแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เห็นว่า ประชาชนมองว่าปัญหาทุจริตเกี่ยวกับผลประโยชน์กระจายอยู่ทั่วไปจนลุกลามน่าอันตราย สิ่งเหล่านี้ถ้าการเมืองมาโดยสุจริต ปัญหาก็จะไม่ค่อยเกิด
...
นายชวน กล่าวต่อว่า ถ้า ส.ส.ใช้เงิน ส.ส.เอาเงินมาจากไหน ในที่สุดเมื่อมีการใช้เงิน ก็ต้องมีผู้ให้เงิน แล้วใครที่จะรวยพอจะเอารายได้มาให้เงิน ดังนั้นต้องช่วยกันรณรงค์ ช่วยกันย้ำให้ประชาชนเห็นว่า อยากได้รัฐบาลดีต้องได้ผู้แทนที่ดี อยากได้รัฐบาลซื่อสัตย์ ก็ต้องได้ผู้แทนที่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ซื้อเสียง ไม่โกง เพราะในระบบนี้ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ผู้ที่ตั้งรัฐบาลด้วยเสียงข้างมาก ถ้าเราเลือกประเภทโกงเข้ามา ก็ได้รัฐบาลโกง อนาคตจะส่งผลต่อประเทศชาติ และส่วนรวม ทั้งนี้ ยอมรับว่า การติดตามตรวจสอบไม่ถึงคนใช้เงิน ในธุรกิจการเมืองเป็นไปได้ยาก คนทำผิดก็มีพฤติการณ์ที่หลบเลี่ยง
“ภาพรวมประชาธิปไตยวันนี้ ในปี 2566 จะครบรอบ 90 ปี นับตั้งแต่มีระบบรัฐสภา มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา ผมอยากสรุปภาพรวมว่า การเมืองเราเปลี่ยนแปลงในทางที่ประชาธิปไตยเรามีความเข้มแข็งขึ้น ประชาชนเชื่อมั่น หวงแหนประชาธิปไตยมากขึ้น แต่สิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาคือ การเมืองไม่สุจริต ธุรกิจการเมือง กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงบางเรื่องประชาชนต้องมีส่วนร่วมสำคัญในการแก้ไข รัฐธรรมนูญเราใช้มา 20 ฉบับ
ฉบับที่ 20 (ปี2560) ก็เป็นฉบับหนึ่ง คำปรารภเขียนไว้ว่า ไม่ต้องการให้คนไม่ดีเข้ามามีอำนาจ พูดง่ายๆ ว่า เป็นฉบับปราบโกง แต่เราใช้มาตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ ทุกคนต้องยอมรับว่า ในทางปฏิบัติยังปราบไม่ได้ แนวโน้มโกงก็ยังมากขึ้น ดังนั้นกฎหมายที่ดี กับคนที่ดีต้องไปด้วยกัน กฎหมายดี คนใช้ไม่ดีก็มีปัญหา เพราะคนใช้ไม่เคารพกฎหมาย เราได้บทเรียนจากประสบการณ์ 90 ปี ชัดเจน เราจะมองกฎหมายดีอย่างเดียวไม่พอ เราต้องรณรงค์คนดีด้วย” นายชวน กล่าว
เมื่อถามว่า หากเงินซื้อเสียงมาถึงหน้าบ้าน ประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไร ระหว่างปฏิเสธตั้งแต่ต้น กับรับเงินไว้ก่อน แต่ไม่เลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครคนนั้น นายชวน กล่าวว่า ตนขอตอบว่า ไม่รับเงิน เพราะเงินไม่ว่ากี่ร้อย ไม่ได้ทำให้ชีวิตรุ่งเรือง ครั้งเดียวไม่ทำให้ใครที่ได้รับเงินเลือกตั้งกลายเป็นเศรษฐี ร่ำรวย ยกเว้นหัวคะแนนที่ได้ประโยชน์ ตรงกันข้ามจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ติดอยู่ในใจว่า เราไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ทำไมพรรคการเมืองถึงไปแย่งภาคใต้ คะแนนนิดเดียว ก็เพราะว่า เดิมภาคใต้ใช้ระบบ ไม่ใช้เงิน
“ยุคพวกผมไม่มี แต่ตอนหลังเงินเข้าไป แล้วฐานะของคนภาคใต้ก็เปลี่ยนไป เศรษฐกิจมีปัญหา รายได้ลด ผมเคยทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนเลือกตั้งปี 62 ว่า รายได้คนภาคใต้ลดลงอย่างน่าตกใจ เช่น จ.ระนอง จ.ตรัง ตอนเลือกตั้งคราวโน้นรายได้ของคนใต้ลดลงหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน เมื่อรายได้เปลี่ยนแปลงไป ชีวิตคนก็เปลี่ยน นักการเมือง ที่ใช้เงินเริ่มได้ผล แต่ได้ผลแบบไปซื้อของถูก เพราะที่อื่นแพง ภาคใต้ ไม่เคยใช้เงินสักบาท พอเริ่มซื้อก็ซื้อแบบราคาถูก พรรคการเมืองเลยไปกันเยอะ ที่ซื้อถูกไม่ใช่เพราะค่าตัวเขาน้อย แต่เพราะในอดีตไม่มีการซื้อ แต่ที่อื่นมี” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวอีกว่า สมัยที่ตนเป็นหัวหน้าพรรคมีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เสียใจจนถึงทุกวันนี้ ผู้สมัครคนหนึ่งชอบวิธีพวกเรามาก พยายามปฏิบัติตามพวกเรา พอวันสุดท้ายของการเลือกตั้งเขาไม่ให้เงิน ผู้สมัครคนนี้ชาวบ้านรักมาก มีสามีเป็นหมอ แต่ว่า ชาวบ้านมาขอเงินแค่ 10 บาท เขาถามพวกเรา ซึ่งก็ตอบไปว่า ในเมื่อไม่ให้ก็ต้องไม่ให้ 5 บาท 10 บาท 100 บาท ก็ไม่ให้ สุดท้ายแพ้เลือกตั้ง แล้วชีวิตครอบครัวก็มีปัญหา ลงท้ายด้วยการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่สะเทือนใจมากครั้งหนึ่งในชีวิตการเมืองที่เราแนะนำไม่ให้เขาซื้อเสียง ฉะนั้นต้องอาศัยคนที่รักบ้านเมือง บ้านเมืองจะไม่มีวันไปดี ถ้านักการเมืองทุจริตโกงกิน เขาไม่ตั้งข้าราชการดีแน่นอน เพราะนักการเมืองโกง ก็ต้องตั้งข้าราชการโกง