การใช้วิชาประวัติศาสตร์สร้างความรักชาติ ตามที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม เดินหน้าต่อไป น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีศึกษาธิการ แถลงว่า กระทรวงศึกษาธิการจะเร่งประกาศเพื่อแยกวิชาประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานออกเป็นรายวิชาพื้นฐาน

รัฐมนตรีศึกษาธิการชี้แจงว่าเป็นมติของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แม้จะมีนักวิชาการด้านศึกษาหลายคนคัดค้าน นายสมพงษ์ จิตระดับ ระบุว่า เป็นการกระทำอย่างโจ่งแจ้ง ใช้อำนาจบังคับให้เด็กรักชาติ ผิดหลักการการศึกษา ทำให้การเรียนรู้ล้าหลัง และเกิดอนุรักษนิยมที่น่าตกใจ

นักวิชาการอีกท่านหนึ่ง นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจารณ์ว่า วิชาประวัติศาสตร์มีอยู่แล้วในกลุ่มสาระสังคม ศึกษา การแยกออกมาเป็นการเล่นแร่แปรธาตุ การสอนต่างหากที่เป็นปัญหา เพราะเป็นการเล่าความยิ่งใหญ่ของประเทศ และสถาบัน ไม่ได้สอนให้เด็กถามได้วิจารณ์ได้

นักวิชาการหลายคนชี้ว่า เด็กในยุคปัจจุบัน เป็น “พลเมืองโลก” ไม่ได้เป็นเพียง “พลเมืองของประเทศ” เพราะเด็กยุคนี้อ่านมาก เข้าถึงโลกมาก เข้าถึงประวัติศาสตร์หลากหลาย ถามว่า ชุดประวัติศาสตร์ เพื่อรักชาติ จำเป็นหรือไม่ ทำไมไม่สอนให้เด็กวิเคราะห์ 90 ปีที่เปลี่ยนแปลง ทำไมยังไม่เป็นประชาธิปไตย

การใช้วิชาประวัติศาสตร์ เพื่อบังคับให้คนรักชาติ อาจทำให้ต้องบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือไม่ และการที่นายกรัฐมนตรีแทรกแซงการจัดหลักสูตร หรือการเรียนการสอนในโรงเรียน กระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการหรือไม่ รัฐธรรมนูญทุกฉบับ เช่นฉบับ 2540 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในวิชาการ

รวมทั้งมีเสรีภาพในการศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่ผลการวิจัย แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบันก็รับรองเสรีภาพในทางวิชาการ นักการเมืองจึงไม่ควรแทรกแซง การใช้เสรีภาพ มิฉะนั้น นายกรัฐมนตรีก็อาจถูกกล่าวหา จงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ

...

เป็นข้อกล่าวหาที่ฟังดูธรรมดาๆ แต่รัฐธรรมนูญถือเป็นความผิดที่ร้ายแรง อาจมีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ไต่สวนข้อเท็จจริง ถ้า ป.ป.ช.เห็นว่าเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด เพื่อฟ้องศาลฎีกาต่อไป.