หลังจากที่ถูกนักข่าวถามดักไปดักมา เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในที่สุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร. ก็ตอบว่าเป็น “พรรคเดียวกัน” ไม่มีอะไร แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ร่วมกันตี แต่รู้จักกันจึงเป็นพรรคเดียวกัน

ถ้ามองในด้านที่มาของผู้นำพรรค คำกล่าวที่ว่า พปชร.กับ รทสช.เป็นพรรคเดียวกัน ถือเป็นคำตอบที่ถูกต้อง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำลังจะเป็นผู้นำพรรค รทสช. กับ พล.อ.ประวิตร เข้าสู่อำนาจด้วยรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เห็นได้ชัดว่ามีอุดมการณ์การเมืองคล้ายกัน

นั่นก็คือ แนวความคิดทางการเมือง ที่เอนเอียงทาง “อำนาจนิยม” ทำรัฐประหารสืบทอดอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ที่แกนนำพรรค พปชร.บางคนคุยด้วยความชื่นชมว่า “เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” โดยเฉพาะมาตรา 272 ที่ให้ ส.ว.250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เลือกผู้นำ คสช.เป็นนายกฯ

คณะผู้นำกองทัพที่ใช้กำลังยึดอำนาจ ที่เรียกว่า “คณะรัฐประหาร” ครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เพิ่งจะครบ 75 ปี เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา และสืบทอดประเพณีรัฐประหารจากรุ่นสู่รุ่น รัฐประหาร 2490 เป็นจุดเริ่มต้นของการยึดอำนาจที่ยาวนาน สืบทอดอำนาจต่อๆกันมาถึงปัจจุบัน ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2557

วิธีการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารอาจจะไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่พยายามอยู่ให้นานที่สุด แต่มีบางคณะที่อยู่ได้ไม่นาน เช่น คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ยึดอำนาจเมื่อต้นปี 2534 มุ่งมั่นจะสืบทอดอำนาจให้ยาวนาน แต่ประชาชนลุกฮือต่อต้านในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 สืบทอดอำนาจต่อไม่ได้

...

จากนั้นประเทศไทยว่างเว้นรัฐประหารนานถึง 14 ปี จนนักรัฐศาสตร์เชื่อว่า รัฐประหาร 2534 เป็นครั้งสุดท้ายของไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีรัฐประหารมากที่สุดในระดับต้นๆของโลก แต่แล้วรัฐประหารก็กลับมาอีก เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เมื่อคณะรัฐประหาร คมช.ยึดอำนาจ แต่ไม่สืบทอดอำนาจจึง “เสียของ”

คณะรัฐประหาร คสช. ที่เรียกอีกอย่างว่า “กลุ่ม 3 ป.” ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่เป็น “พรรคเดียวกัน” อยู่ในอำนาจมา กว่า 8 ปีแล้ว แต่ยังไม่พอ ไม่ยอมทำตามสัญญา “ขอเวลาอีกไม่นาน แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอประชาชน” การเลือกตั้งใหม่ในอีกไม่กี่เดือน ประชาชนจะตัดสินว่าพอหรือยัง ความสุขอยู่ที่ไหน.