องค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ยื่นข้อเรียกร้องต่อ UN ขอให้ตำรวจปล่อยตัว 3 นักศึกษาชายแดนใต้ หลังถูกจับกุมโดยไม่ทราบสาเหตุเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ล่าสุด ตร.ปล่อยตัวแล้ว 

ที่ องค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก วันที่ 16 พ.ย. 65 นายซอฟรอนด์ ลาเตะ อายุ 29 ปี รองเลขาธิการองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชมรมนักศึกษามุสลิมมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสหพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย จำนวน 30 คน ได้ยื่นข้อเรียกร้องกับตัวแทนองค์การสหประชาชาติ เรื่องเรียกร้องให้หยุดการคุกคามและปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกคุมตัว

โดยนายซอฟรอนด์ได้อ่านแถลงการณ์ใจความว่า สืบเนื่องในวันที่ 14-19 พ.ย. 65 เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเอเปก ทำให้เจ้าหน้าที่มีการเตรียมการดูแลความเรียบร้อยโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเห็นว่าทางเจ้าหน้าที่มีการตรึงกำลังเป็นพิเศษโดยมีการตรวจและถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน เยี่ยมที่พักอาศัยโดยเมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 16 พ.ย. 65 เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการควบคุมตัว นายฟิตรี อารง อายุ 27 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กับพวกรวม 3 คน ไปจากที่พักย่านรามคำแหง โดยไม่ทราบสาเหตุ

...

จากเหตุการณ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทำให้เกิดข้อกังวลในเรื่องของข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ได้คุกคาม ผู้ถูกคุกคามไม่มีทางทราบได้เลยว่าจะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในทิศทางใดบ้าง อีกทั้งทำให้ผู้ถูกคุกคามเกิดความกังวลและเกิดข้อสงสัยว่าใช้เกณฑ์ใดในการคุกคามหรือมีมูลเหตุอันใดที่ทำให้เจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติลักษณะเช่นนี้ การกระทำของเจ้าหน้าที่ในลักษณะเช่นนี้ ทำให้คนทั่วไปมองมาต่อผู้ถูกคุกคามตีความไปในทางลบ เป็นการกระทำที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงต่อตัวนักศึกษา ทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และยังการเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อผู้ถูกคุกคามอีกด้วย

ทางองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชมรมนักศึกษามุสลิมมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย คำนึงและเล็งเห็นถึงความสำคัญของหลักการสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงหลักของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 วรรค 3 การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การฝึกอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใดจะกระทำมิได้ จึงนำมาสู่ข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.ขอให้ตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร 2.หยุดคุกคามนักศึกษาและประชาชนที่มาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดปัตตานี โดยอ้างความมั่นคงในการสร้างความชอบธรรมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ 3.เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่คืนอิสรภาพให้แก่นักศึกษาที่ถูกคุกคามและถูกควบคุมตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ อันไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนสากล ไม่คำนึงถึงหลักสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยให้การคุ้มครองและรับรองไว้ และไม่คำนึงหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อันเป็นสิทธิในการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและขอให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวเพื่อนนักศึกษาทันที

โดย นายซอฟรอนด์ ยืนยันว่า นักศึกษาที่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มุ่งทำกิจกรรมพัฒนาชนบทในพื้นที่ถิ่นเกิดของตัวเอง ไม่มีแนวคิดในการเคลื่อนไหว หรือชุมนุมในระหว่างที่มีการประชุมเอเปกแต่อย่างใด โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มีหมายค้นเข้าไปตรวจค้นบริเวณซอยรามคำแหง 53 ซึ่งเป็นที่พักของกลุ่มนักศึกษาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งหมายที่จะนำตัว นายฟิตรี ไป โดยระหว่างที่ตรวจค้นภายในห้องไม่มีอุปกรณ์วัตถุระเบิดหรืออาวุธแต่อย่างใด มีเพียงสเปรย์ที่ให้กลิ่นหอมเท่านั้น โดยการควบคุมตัวไปไม่มีการแจ้งให้ทราบว่าเป็นไปด้วยสาเหตุใด จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทำการปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 3 คนทันที

ทั้งนี้ในระหว่างที่เตรียมยื่นเอกสารต่อองค์การสหประชาชาตินั้น มีรายงานว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.บก.น.4 ได้ทำการปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยทั้งสามคนแล้วโดยไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ทางกลุ่มนักศึกษายังคงยืนยันที่จะยื่นเอกสารต่อทางเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติเพื่อทำตามข้อเรียกร้องที่ต้องการต่อไป.