"ซูเปอร์โพล" เผย ผลสำรวจประชาชน พบ "เพื่อไทย" แลนด์สไลด์ ได้เก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อสูงถึง 30 ที่นั่ง รองลงมา "ภูมิใจไทย" 21 ที่นั่ง ขณะที่ "พลังประชารัฐ" 16 ที่นั่ง เหตุมาจากปัจจัยแพแตก ของ "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม" ทำส.ส.วงแตกย้ายรัง

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง เพื่อไทย แลนด์สไลด์ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Survey) เพื่อลดความคลาดเคลื่อนแก้ปัญหาแหล่งความคลาดเคลื่อนจากผู้ถามผู้ตอบและเครื่องมือวัด จำนวน 1,643 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 พบว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย จะชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวนที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ หรือจำนวน ผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองมากที่สุด คือ 25 ที่นั่ง และอาจสูงขึ้นถึง 30 ที่นั่งในการตัดสินใจของประชาชนทั้งประเทศ รองลงมาคือ พรรคภูมิใจไทย ประมาณการว่าจะได้ 21 ที่นั่ง และอาจจะสูงถึง 26 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคพลังประชารัฐ คาดว่าจะได้ 16 ที่นั่ง หรืออาจจะสูงถึง 21 ที่นั่ง โดยยังไม่มีปัจจัยย้ายพรรคของ ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐและความขัดแย้งจนแพแตกแยกทางกันเดินระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เกิดขึ้นเพิ่มเติม

อันดับที่สี่และอันดับที่ห้า สูสีกันคือ พรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคก้าวไกล โดยพรรคประชาธิปัตย์คาดว่าจะได้ 11 ที่นั่ง และพรรคก้าวไกล คาดว่า จะได้ 9 ที่นั่ง เป็น ส.ส. ผู้แทนราษฎรส่วนของพรรคการเมือง ตามด้วยส่วนของ พรรคชาติไทยพัฒนา 3 ที่นั่ง และพรรคการเมืองอื่น ๆ จำนวน 10 ที่นั่ง และมีอีกจำนวนที่นั่งที่อาจจะเทไปให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งอีกจำนวน 5 ที่นั่ง

...

ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ในภาคอีสาน ร้อยละ 45.6 รองลงมาคือภาคเหนือ ร้อยละ 32.9 ในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 29.6 ในภาคกลางร้อยละ 8.0 และในภาคใต้ร้อยละ 6.3 ตามลำดับ ในขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ได้ในภาคกลางมากที่สุดคือร้อยละ 26.2 ภาคใต้ได้ร้อยละ 24.0 ภาคอีสานได้ร้อยละ 21.2 กรุงเทพมหานครได้ร้อยละ 19.3 และภาคเหนือได้ร้อยละ 7.8 ตามลำดับ

สำหรับพรรคพลังประชารัฐในเงื่อนไขว่า ยังไม่มีการย้ายพรรคของ ส.ส.และยังไม่เกิดความขัดแย้งจนแพแตกแยกทางกันเดินระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พบว่า ภาคใต้ได้ร้อยละ 26.0 ภาคกลางได้ร้อยละ 25.8 กรุงเทพมหานครได้ร้อยละ 13.3 ภาคเหนือได้ร้อยละ 7.8 และภาคอีสานได้ร้อยละ 5.8 ตามลำดับ ในขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ภาคใต้ได้ร้อยละ 24.3 ภาคกลางได้ร้อยละ 11.5 ภาคเหนือได้ร้อยละ 11.2 กรุงเทพมหานครได้ร้อยละ 7.4 และภาคอีสานได้ร้อยละ 3.7 ตามลำดับ

ส่วนพรรคก้าวไกล กระจายไปได้ภาคเหนือมากสุดร้อยละ 14.0 กรุงเทพมหานครได้ร้อยละ 9.6 ภาคอีสานได้ร้อยละ 8.7 ภาคกลางได้ร้อยละ 8.2 และภาคใต้ได้ร้อยละ 4.9 ตามลำดับ