ปาดหน้ากันแบบไม่ต้องเหนียมอายอีกแล้ว กรณี ครม.เห็นชอบออกกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา ชิงตัดหน้าไปแค่ 1 วันก่อนที่สภาฯจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า (ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล) ในวาระ 2-3 ซึ่งมีแนวโน้มจะผ่านออกมาเป็นกฎหมายได้ เพราะมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ทุกพรรคตั้งแต่วาระแรก

ก่อนหน้านี้มีข่าว ผู้มีอำนาจในรัฐบาล ล็อบบี้ให้พรรคร่วมรัฐบาล โหวตคว่ำ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า แต่การขบเขี้ยวทางการเมืองในช่วงปลายสมัยอย่างนี้ คำสั่งที่เคยประกาศิตก็ไม่ขลังเหมือนเดิม

ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าไม่เพียงเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดในการผลิตสุราพื้นบ้าน ปลดปล่อยศักยภาพของผู้ผลิตสุราไทย ทั้งยังช่วย เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร (หมักเหล้าในขวดราคามีแต่ขึ้น เก็บข้าวในคลังมีแต่ราคาลด) กระตุ้นการท่องเที่ยว (สร้างสตอรี่ให้คนอยากมาเที่ยวในแต่ละท้องถิ่น) กระจายรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อย (มูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยเท่ากับญี่ปุ่น ปีละ 4 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นมีผู้ประกอบการ 2 หมื่นกว่าราย แต่ไทยแบ่งกันแค่ 7 เจ้าใหญ่) ทำให้ประเทศหลุดพ้นจากการผูกขาด (ทุกคนมีโอกาสเติบโต)

ถ้าร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าผ่านสภาฯได้ พรรคก้าวไกลจะได้คะแนนนิยมอีกมากโข รวมถึง ส.ส.ที่โหวตสนับสนุนก็จะมีคำตอบให้ชาวบ้านได้ ขณะที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลจะ เสียหน้าทางการเมือง และ เสียหน้ากับทุนใหญ่ผูกขาด

การออกกฎกระทรวงในครั้งนี้ คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อ้างว่า ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ากฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ปี 2560 ตึงเกินไป ต้องปรับปรุงให้ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลก็หย่อนเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงต้องพบกันครึ่งทาง

อย่างไรก็ตามเมื่อเจาะลึกเนื้อหาในกฎกระทรวงดังกล่าว พบว่ายังมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจสุราพื้นบ้านอีกหลายอย่าง เช่น ผู้ที่ต้องการผลิตสุรา “เพื่อการค้า” จะต้อง จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วน

...

สุรากลั่นหรือสุราชุมชน กำลังผลิต 5 แรงม้า ใช้กำลังคนไม่เกิน 7 วัน ถ้าจะขยายกำลังผลิตไม่เกิน 50 แรงม้า ใช้กำลังคนไม่เกิน 50 คน ต้องไม่มีประวัติทำผิดกฎหมายภาษีสรรพสามิตครบ 1 ปี เสี่ยงต่อการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพราะมีข้อกำหนดยิบย่อยอยู่แล้ว

โรงเบียร์ที่ขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) แม้ยกเลิกข้อกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำและทุนจดทะเบียน แต่ยังต้องมีใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม ต้องทำตาม พ.ร.บ.โรงงานที่กำหนด 50 แรงม้า หรือกำหนดอื่นตามที่อธิบดีกำหนด ซึ่งอาจจะมากกว่าขั้นต่ำ 100,000 ลิตรต่อปีของกฎหมายเดิมก็ได้

ผู้ประกอบการที่ต้องการขายแบบบรรจุขวด ต้องผ่านการทำประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งใช้ต้นทุนสูง 3-5 ล้านบาท และใช้เวลา 2-3 ปี ทั้งยังต้องมีไลน์บรรจุที่ยิงสติกเกอร์ได้

การผลิตสุรากลั่นชนิดพิเศษ วิสกี้ ยิน บรั่นดี ยังคงกำลังการผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตรต่อปี สุรากลั่นอื่นยังคงต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ 90,000 ลิตรต่อปี และต้องมีใบอนุญาตโรงงาน

กรณีที่ไม่ใช่ผลิตเพื่อการค้า ยังมีข้อกำหนด ไม่ให้ผลิตมากกว่า 200 ลิตรต่อปี

ส่วนข้อกังวลเรื่องมาตรฐานทางสาธารณสุขและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีกฎหมายเฉพาะควบคุมอยู่แล้ว ถ้าร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าผ่านออกมา ก็สามารถออกข้อกำหนดในกฎหมายลูกได้อยู่ดี

กฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุราฉบับนี้ที่อ้างว่าช่วยปลดล็อกธุรกิจสุราพื้นบ้านให้แก่ประชาชน แท้จริงแล้วยังซ่อนเงื่อนปมไว้กีดกันผู้ประกอบการรายย่อยเหมือนเดิม.

ลมกรด