สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แจงข้อบังคับห้ามใช้ทรัพยากร-บุคลากรของรัฐเพื่อผลต่อการเลือกตั้ง กรณีสภาครบอายุ หรือยุบสภา พร้อมทั้งห้ามจัดประชุม ครม.สัญจร
วันที่ 17 ต.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบ กกต. ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 ซึ่งมีความสำคัญจะต้องใช้บังคับเมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งขณะนี้ใกล้จะครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 23 มี.ค.66
โดยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในระหว่างที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ต้องไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งด้วยวิธีการ ดังนี้
1. ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ โดยการกำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที และมีลักษณะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
2. จัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่นอกเหนือจากการประชุมตามปกติ และมีการใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
3. กำหนด สั่งการ หรือมอบหมายให้มีการประชุม อบรม หรือสัมมนาบุคลากรของรัฐหรือเอกชน โดยใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ หรือเงินของกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการประชุมตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
4. กำหนด สั่งการ หรือมอบหมายให้มีการอนุมัติ โอนหรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้หน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ ทำการแจกจ่ายทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
...
5. กำหนด สั่งการ หรือมอบหมายให้มีการแจกจ่ายหรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประซาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
6. ใช้พัสดุ หรือเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือใช้บุคลากรของรัฐปฏิบัติงานเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
7. ใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการในการเลือกตั้งที่รัฐถือหุ้นใหญ่เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกัน
กรณีใดที่ไม่ได้กำหนดไว้หรือมีเหตุจำเป็น กกต.อาจกำหนดยกเว้น หรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้ได้