พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาล แก้น้ำท่วมเร่งด่วนฉุกเฉินแบบ "ภาวะวิกฤติ" วอน ปรับกฎเหล็ก 180 วัน กกต. เปิดทางภาคท้องถิ่นช่วยประชาชนพ้นภัย แขวะ เอาเทคโนโลยีมาใช้เตือนภัยล่วงหน้าดีกว่ากลับไปใช้วิทยุทรานซิสเตอร์
วันที่ 4 ต.ค. นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ เรื่อง การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งระบบสาธารณูปโภค การคมนาคม และความเสียหายต่อบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่ทำกินในหลายพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรง และประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ตระหนักถึงวิกฤติปัญหาดังกล่าว พรรคเพื่อไทยจึงออกแถลงการณ์มาเพื่อเรียกร้องทั้งรัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ ใน 2 เรื่อง ดังนี้
1.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ถือว่าปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในครั้งนี้ที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง และต้องถือว่า กรณีนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนจำเป็นฉุกเฉิน จึงต้องบริหารแบบสถานการณ์พิเศษ มิใช่บริหารแบบสภาพการณ์ปกติทั่วไป จะต้องระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง และทันท่วงที โดยต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า และมาตรการเยียวยาในระยะต่อไปอย่างชัดเจน

...
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์รับน้ำท่วมในปี 2554 ซึ่งได้กำหนดมาตรการไว้อย่างมีแบบแผน เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พบว่ามีปัญหาใน 7 เรื่องสำคัญ ได้แก่
1.1.การเตือนภัย น้ำท่วมครั้งนี้มีปัญหาเรื่องการเตือนภัยให้กับพี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เพราะคาดไม่ถึงว่าน้ำท่วมจะรุนแรง จนรับมือไม่ได้ เช่น อุบลราชธานี ซึ่งตนเองได้ลงพื้นที่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณน้ำท่วมมีความรุนแรงใกล้เคียงกับปี 2562 และ ณ วันนี้รุนแรงกว่าปี 2562 เนื่องจากอุบลราชธานีเป็นจังหวัดรับน้ำก่อนลงสู่แม่น้ำโขง ครั้งนี้ปริมาณน้ำเข้าสู่พื้นที่อย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนเก็บข้าวของไม่ทัน จากระบบการเตือนภัยของรัฐบาลที่ขาดการใส่ใจจากหลายฝ่าย การออกคำเตือนล่าช้า มาตรการไม่มีความพร้อม
1.2 ในสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้วางแผนเตรียมการไว้ โดยประเมินการรับมือในระดับเลวร้ายที่สุด (worst case scenario) เตรียมมาตรการรองรับเอาไว้ หากไม่เกิดขึ้น ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเตรียมการ
1.3 รัฐบาลต้องบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์ภาวะเสี่ยง มาบริหารประเทศในขณะนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ
1.4 วางระบบในการบริหารจัดการ โดยหน่วยดูแล บัญชาการ ปฏิบัติการชัดเจน ครอบคลุมระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างชัดเจน
1.5 การบริหารสถานการณ์น้ำท่วม ต้องไม่นำระเบียบเดียวกัน มาบังคับเหมือนกันทั่วประเทศ ต้องดูรายพื้นที่ เช่น พื้นที่น้ำท่วมถาวร พื้นที่น้ำท่วมทุกปี พื้นที่น้ำท่วมขังนาน เป็นต้น แต่ละพื้นที่ต้องมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน โดยการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่าจะกำหนดมาตรการอย่างไร โดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน
1.6 ต้องให้ความสำคัญกับภาคท้องถิ่นซึ่งมีความใกล้ชิดพี่น้องประชาชนมากที่สุดเข้ามาแก้ปัญหา รวมทั้งภาคส่วนเอกชน อาสาสมัครต่างๆ
1.7 แผนบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่แม้ถูกตีตกไป ถือว่าเป็นกรรมของประเทศมาถึงปัจจุบัน ที่ไม่มีระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งนำแผนไปดำเนินการ และหากพรรคเพื่อไทยมีโอกาสในการบริหารประเทศ พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดจะดำเนินการ
2.ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณากำหนดเงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติ ปรับปรุงระเบียบให้พรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนของปวงชนสามารถเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ แม้จะอยู่ในช่วงระยะของ 180 วัน ก่อนวันครบอายุสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องถือปฏิบัติตามกฎหมาย และเป็นระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงก็ตาม เพื่อมิให้ระเบียบ หรือข้อห้ามต่างๆ เป็นอุปสรรคในการจำกัดหรือทำให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนซึ่งกำลังเดือดร้อนอย่างสาหัสอยู่ในขณะนี้
นายแพทย์ชลน่าน ย้ำด้วยว่า หากเปิดสมัยประชุมสภา พรรคเพื่อไทยจะเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในมาตราที่เกี่ยวกับการกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น มาตรา64,65,68 ต่อไป
“คำพูดที่ฟังแล้วอนาถใจ คือ เดี๋ยวก็ชินแล้ว ประชาชนให้สัมภาษณ์สื่อว่า พวกคุณลองมาอยู่ไหม เพราะชั้นสองของบ้านยังนอนไม่ได้ ทางแก้ระยะต่อไปต้องเร่งสร้างอาชีพรองรับในระยะ 3 เดือน ฟื้นคืนระบบโลจิสติกส์ เร่งจ่ายชดเชยต่อไร่การปลูกข้าว ค่าเยียวยาพื้นที่รับน้ำต้องเร่งจ่าย เพราะน้ำท่วมในปีที่แล้วประชาชนยังไม่ได้” นายแพทย์ชลน่านกล่าว

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขังกว่า 10 จุดใน กทม. ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2565 พรรคเพื่อไทย โดย ส.ส., ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส., ส.ก. รวมทั้งคณะทำงาน กทม. ของพรรค ได้พยายามทำหน้าที่ในส่วนของตนเองเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาว กทม.อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทีมงานของพรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบระดับน้ำในคลองสายหลักพบว่า คลองหลายแห่งยังสามารถใช้ระบายน้ำได้อีก
ทั้งนี้ ในฐานะ ส.ส.กทม. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนกฎเหล็กของ กกต.เพื่อให้ ส.ส.ได้เข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ และควรจัดสรรงบกลาง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ รวมถึง กทม.อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ควรใช้งบกลางในการยังไว้ในการจัดสรรอำนาจของตนเอง พร้อมทั้งขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดสรร เครื่องสูบน้ำแรงสูงระยะไกล เพื่อเตรียมทอนน้ำไปยังคลองสายหลักสำหรับฝนที่กำลังจะมาอีก และขอให้ทุกภาคส่วนของ กทม.เข้ามาช่วยแก้ปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำท่วมเฉียบพลันให้ชาว กทม.อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลปรับปรุงระบบเตือนภัยให้มีความรวดเร็วและแม่นยำ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังเช่นวานนี้เกิดขึ้นอีก เพราะประชาชนไม่รู้ตัวว่า ฝนจะตกเมื่อไหร่ ที่ไหน และปริมาณมากน้อยเพียงใด จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายเช่นที่เกิดขึ้นในวันนี้ พร้อมทั้งขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่ามัวแต่สร้างภาพลงพื้นที่ชี้นิ้วสั่งการข้าราชการให้แก้ปัญหาน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว แต่ขอให้ท่านใช้สติปัญญาในฐานะผู้นำประเทศ เร่งวางนโยบาย และแผนบริการจัดการน้ำ ภาคเหนือจรดภาคใต้ ให้เป็นระบบ ครอบคลุม เป็นรูปธรรม และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากอีก เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน
สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ผ่านการคิดและหารือร่วมกันโดยนักวิชาการหลากหลายสถาบัน เป็นแผนจัดการน้ำรวม 10 โมดูล หากดำเนินการในวันนั้น จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ในวันนี้ พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบมาโดยตลอด แต่รัฐบาลไม่เคยเปิดใจรับฟัง ทั้งที่ปี 2554 พลเอกประยุทธ์ เคยเดินคู่นางสาวยิ่งลักษณ์ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม แต่ไม่เคยใช้โอกาสนั้นเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง และยังไม่สายที่จะนำแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทไปดำเนินการ เพราะในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ไม่มีแผนการบริหารจัดการน้ำท่วม- น้ำแล้งแต่อย่างใด แต่เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจเท่านั้น หมดเวลาของพลเอกประยุทธ์แล้ว ปล่อยให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารประเทศ
“ขอให้รัฐบาลนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการเตือนภัยล่วงหน้า ป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นจะดีกว่าค่ะ อย่าหันกลับไปใช้ทรานซิสเตอร์อีกเลย เพราะนอกจากไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังเป็นภาระที่ประชาชนจะต้องจัดหาเงินมาจัดซื้ออีก” นางสาวธีรรัตน์ กล่าว