พรรคก้าวไกล ยื่นกระทู้ถาม "จุติ" ที่สภา จี้ กระทรวง พม. แก้ปัญหา "ทิ้งเด็กในรถ" ยัน ไม่ใช่ "ลืม" ขอให้รมต.ออกแนวทางแก้ไข หรือป้องกันให้ชัด ในราชกิจจานุเบกษา หยุดวาทกรรม "ลืมเด็กในรถ"
วันที่ 8 ก.ย. ที่รัฐสภา นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการยื่นกระทู้ถามรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ต่อปัญหาการทิ้งเด็กหรือลืมเด็กไว้ในรถ ชี้ 7 ปี เกิดเหตุการณ์อย่างน้อย 129 ครั้ง แต่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกลับนิ่งเฉย โทษแต่เป็นเรื่องเหตุสุดวิสัย อุบัติเหตุ เลยเถิดไปถึงอ้างเวรกรรม ไร้ผู้รับผิดทาง ก.ม. ทั้งที่เป็นเรื่องที่ป้องกันได้หากเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็ก เร่ง “จุติ” ตอบในราชกิจจาฯ เอาให้ชัดจะออกแนวทางแก้ไขหรือป้องกันอย่างไร อย่าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์สลดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“เมื่อปรากฏเป็นข่าวจะพบว่า พาดหัวข่าวส่วนใหญ่ใช้คำว่า “ลืมเด็กในรถ” เรื่องนี้มิใช่การลืมเด็ก แต่เป็นการ “ทิ้งเด็ก” เราไม่อาจใช้คำว่าลืม เหตุสุดวิสัย หรือว่าไม่ตั้งใจกับชีวิตเด็กไม่ว่ารายใดได้ ดังเช่น รายล่าสุดเด็กหญิงอายุ 7 ปี ถูกทิ้งไว้ในรถโรงเรียนจนเสียชีวิต เหตุเกิดที่จังหวัดชลบุรี ก็เป็นเช่นเดียวกัน และมักจะจบลงที่คำขอโทษ การเยียวยาเพียงน้อยนิด และในท้ายที่สุดไม่อาจนำไปสู่การเอาผิดหรือลงโทษทางอาญากับบุคคลใดๆ ทั้งตามประมวลกฎหมายอาญาหรือในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ได้ระบุนิยามคำว่า ทารุณกรรมเด็กให้หมายถึงทั้งการกระทำหรือละเว้นการกระทำ จนทำให้เด็กได้รับอันตราย การที่มีเด็กคนหนึ่งถูกทิ้งไว้ในรถ จึงเป็นเรื่องใหญ่ แต่เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขและป้องกันได้” นายณัฐวุฒิระบุ
...
โดยหากเมื่อย้อนดูสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557-พ.ศ. 2563 พบมีเด็กถูกทิ้งหรือลืมไว้ในรถตามลำพังอย่างน้อย 129 กรณี ทั้งในรถส่วนบุคคลและรถสาธารณะ แบ่งออกเป็นเด็กอายุ 2 ปี 38% เด็กอายุ 1 ปี 20.9 % เด็กอายุ 3 ปี 19.4 % ในจำนวนนี้มีถึง 6 รายที่เสียชีวิต และเกือบทั้งหมดของการเสียชีวิตเกิดขึ้นในรถรับส่งนักเรียนของสถานศึกษาหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยเมื่อพิจารณากฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องก็พบแต่เพียงว่า หากเป็นกรณีของรถรับส่งนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 เป็นแนวทางควบคุมดูแลรถรับส่งนักเรียนในสังกัด แต่ก็มิได้กล่าวครอบคลุมถึงรถรับส่งนักเรียนเอกชนอย่างชัดเจน ส่วนในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ได้ระบุถึงหน้าที่ของผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแล ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยของเด็ก ก็ไม่ปรากฏว่า ได้มีการออกกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ หรือแนวทาง ที่ออกมารองรับเรื่องการดูแลหรือแก้ไขปัญหาการทิ้งเด็กหรือการลืมเด็กไว้ในรถ ทั้งรถโรงเรียน รถสาธารณะหรือรถส่วนบุคคลแต่ประการใด
“ตนได้ปรึกษากับทางคุณภัสรินและคุณนัฎฐิกา ที่ทำงานร่วมกันใน กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรีฯ แล้วเห็นว่า เรื่องนี้ที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องรู้และเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็กว่า เด็กวัยใด เช่น เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 2 ปี จะต้องอยู่ในระยะผู้ดูแลเอื้อมมือถึง เด็ก 2-5 ปี จะต้องอยู่ในระยะผู้ดูแลมองเห็นได้ หากคนดูแลเด็ก ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงเด็ก คนขับรถ หากเข้าใจก็จะป้องกันและลดการทิ้งหรือลืมเด็กไว้ในรถได้ นอกเหนือจากมาตรการทางเทคนิคอื่นๆ ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่นายจุติ ไกรฤกษ์ ในฐานะ รมต.พม.และประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ จะต้องเรียกประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กเพื่อวางแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหา ตนในฐานะผู้แทนประชาชนเพียงทำหน้าที่เร่งรัดด้วยการตั้งกระทู้ถาม และขอให้ รมต.ตอบในราชกิจจานุเบกษาว่า จะมีแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร ก็ขอให้ตอบมาชัดๆ หยุดวาทกรรมลืมเด็กไว้ในรถ และจะได้ไม่มาเสียใจภายหลังเมื่อเกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีก” ณัฐวุฒิระบุ