“เชาว์ มีขวด” ยัน นับวาระ 8 ปีนายกฯ ต้องตั้งแต่ 24 สิงหาคม 57 ไม่ต้องตีความกันให้เสียเวลา หากมีการตีความบิดเบี้ยว ต้องถามหามาตรฐานว่า อดีตนายกรัฐมนตรีคนอื่น จะถูกรีเซตใหม่ด้วยหรือไม่
วันที่ 18 สิงหาคม 2565 นายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “8 ปีของประยุทธ์ กับ 8 ปีของอดีตนายกฯ คนอื่น ความจริงที่ไม่ต่างกัน” มีเนื้อหาระบุว่า ประเด็นที่ถกเถียงกันเรื่องการนับเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า เริ่มตั้งแต่เมื่อใด ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ได้บัญญัติไว้ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ …” ซึ่งมี 3 ปมเวลา คือ หนึ่งนับตั้งแต่วันที่ พลเอกประยุทธ์เริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือวันที่ 24 สิงหาคม 2557 สอง นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 และสาม นับตั้งแต่วันที่ พลเอกประยุทธ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 คือวันที่ 9 มิถุนายน 2562 มาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันเกินกว่า 8 ปี เจตนารมณ์ก็เพื่อควบคุมฝ่ายบริหาร มิให้อยู่ในอำนาจเป็นเวลานานเกินไป ดังนั้นคำว่า ระยะเวลารวมกันเกิน 8 ปีแล้วหรือไม่ จึงแทบไม่ต้องตีความกันให้เสียเวลา ภาษากฎหมายเขาเรียกพยานหลักฐานเช่นนี้ว่า ข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วไป เป็นสิ่งที่ไม่ต้องสืบพยาน เพราะศาลรู้เองได้
...
นายเชาว์ ระบุต่อว่า เป็นเรื่องท้าทายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่าน เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลผูกพันกับทุกคนทุกองค์กรโดยเฉพาะประเด็นนี้ไม่ใช่เฉพาะแค่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยที่เคยดำรงตำแหน่งนี้มาแล้วและยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายชวน หลีกภัย นายอานันท์ ปันยารชุน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือแม้กระทั่งนายทักษิณ ชินวัตร ก็ตาม ลองหลับตานับเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนอื่นดูว่าแต่ละคนเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วคนละกี่ปี เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 ปี กับ 231 วัน ระยะเวลาในการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์จึงเหลืออยู่เพียง 5 ปี กับ 134 วัน ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็ไม่ต่างอะไรกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 7 ปีกับ 359 วันจะครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้แล้ว ไม่จำเป็นต้องตีความกฎหมายให้เสียเวลา ว่าจะเริ่มนับตั้งแต่วันไหน หากมีการตีความบิดเบี้ยวไป ก็ต้องถามหามาตรฐานว่า อดีตนายกรัฐมนตรีท่านอื่น จะถูกรีเซตการนับวาระใหม่ด้วยใช่หรือไม่ หากมีโอกาสได้กลับมาบริหารประเทศเท่ากับจะอยู่ได้ 8 ปี เนื่องจากยังไม่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 ตามที่กล่าวอ้างกัน.