“อนุทิน” เตรียมเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ ลดระดับโควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แจงยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่นายกฯ และ ศบค. จะพิจารณา มอง ไม่กระทบวิถีชีวิตปกติ ช่วยจัดการสถานการณ์ได้ดี
วันที่ 18 สิงหาคม 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ในวันพรุ่งนี้ (19 สิงหาคม 2565) ว่า จะมีการเสนอมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าด้วยการลดระดับของสถานการณ์โควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
จากนั้นผู้สื่อข่าวถามถึงแนวโน้มการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยนายอนุทิน ตอบว่า เป็นการพิจารณาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ศบค. ส่วนเรื่องการลดระดับโควิด-19 คงจะนำมาคิดร่วมด้วย ซึ่งข้อมูลหรือมติของ คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ ที่ให้โควิด-19 เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ก็เปลี่ยนจากสีแดงมาเป็นส้มอ่อนๆ เป็นแนวทางพิจารณาในการใช้กฎหมาย

...
เมื่อถามต่อไปว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีความจำเป็นแค่ไหนนั้น นายอนุทิน ระบุว่า ใช้ควบคุมโรคระบาดได้ดี ทำให้การดูแลสถานการณ์มีความคล่องตัว เวลาที่ต้องใช้วัคซีน เวชภัณฑ์ การมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เร็ว เหมือนการมี ศบค. ที่ทุกภาคส่วนต้องรับทราบข้อมูลร่วมกัน
ส่วนคำถามว่าเมื่อไรจึงควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายอนุทิน เผยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้กระทบต่อวิถีชีวิตตามปกติ แต่ช่วยให้การจัดการสถานการณ์โควิด-19 ง่ายขึ้น สามารถรวมพลังจากส่วนราชการในการดูแลประชาชนได้ แต่การลดระดับโรคโควิด-19 ไปเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ตรงนี้ก็ช่วยนายกรัฐมนตรีในการพิจารณาได้ ขณะที่เรื่องนำเข้าวัคซีนตัวใหม่จากประเทศอังกฤษ นายอนุทิน ชี้แจงว่า ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ต้องยึดหลักทางการแพทย์ เมื่อเห็นว่าดี มีประโยชน์ ก็พร้อมนำเข้ามา.