โต้กันวุ่น “หมอชลน่าน” ร้องตรวจสอบองค์ประชุมก่อนเข้าวาระร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. กล่าวหามีใบสั่ง ด้าน “ชินวรณ์-ศุภชัย” ไม่เห็นด้วยแนวทาง “ชาดา” โต้ ไม่มีใครมาสั่งได้ สุดท้ายจบที่ลงมติ
เมื่อเวลา 10.43 น. วันที่ 10 ส.ค. 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา จบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. .... นายชวน หลีกภัย กล่าวขอบคุณสมาชิกที่ช่วยกันผ่านร่างกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ และเป็นหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว. ที่ร่วมกันลงมติ
จากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวก่อนเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ว่า ขอเสนอเป็นญัตติเพื่อตรวจสอบองค์ประชุม เพราะเป็นร่างกฎหมายที่มีความสำคัญมาก ขณะนี้จะเป็นการพิจารณามาตรา 24 หลังก่อนหน้านี้ในมาตรา 23 ผลการลงมติเปลี่ยนจากหาร 100 มาเป็นหาร 500 ในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เปลี่ยนจากระบบเดิมในกฎหมายหลักที่หาร 100 เป็นการใช้อำนาจที่ขัดรัฐธรรมนูญในมาตรา 83 และ 91 จึงมีความจำเป็นที่ต้องตรวจสอบองค์ประชุม
ทั้งนี้ มองว่ามีแนวโน้มที่เสียงข้างมากจะไม่ถึง คือกฎหมายจะตกไป ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เกรงว่าจะกลับไปเป็นระบบเลือกตั้งแบบเดิม และแม้ผ่านวาระที่ 3 เมื่อส่งให้คระกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เชื่อว่า กกต. จะให้ความเห็นทักท้วง ตอบกลับว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ถ้าส่งแล้วศาลรับธรรมนูญแล้วให้ความเห็นยังมีช่องทางแก้ไขได้ใน 30 วัน ถ้าผ่านวาระ 3 จะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นการเข้าชื่อว่าขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากขัดร่างกฎหมายจะตกทั้งฉบับ จะไม่มีกฎหมายใช้ในการเลือกตั้ง เป็นช่วงเวลาที่สุ่มเสี่ยง จะเป็นรัฐบาลรักษาการยาวไป จะเป็นสุญญากาศที่จะไม่มีการเลือกตั้ง เชื่อว่ารัฐบาลและ กกต. ไม่กล้าออกพระราชกำหนดและประกาศ เพราะรัฐธรรมนูญระบุชัดต้องใช้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เท่านั้น
...

ต่อมา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ว่าไม่เห็นด้วยเรื่องการขอให้มีการตรวจสอบองค์ประชุม เพราะขณะนี้ก็ดำเนินมาตามขั้นตอนตามลำดับ ทางด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย แสดงความเห็นในนามพรรคว่า สนับสนุนความเห็น นายชินวรณ์ ซึ่งสิ่งที่ต้องทำหน้าที่ในสถานะสมาชิกรัฐสภาคือต้องอยู่ในสภาฯ เพื่อลงมติ แต่สิ่งที่ นพ.ชลน่าน พูด คล้ายว่าการจะทำให้องค์ประชุมไม่ครบเป็นความชอบธรรม ส่วนคนที่อยู่เป็นความไม่ชอบธรรม พวกเรามีหน้าที่ต้องทำ ภูมิใจไทยก้าวข้ามคำว่าหาร 100 หาร 500 ไปนานแล้ว เรามีหน้าที่ดำเนินกฎหมายไปจนสุดทาง ส่วนจะมีการร้องศาลรัฐธรรมนูญก็พร้อมรับคำวินิจฉัย และมองว่าที่ นพ.ชลน่าน พูดนั้นจะทำให้ประชาชนสับสน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยขอทำหน้าที่ตามกระบวนการ
นพ.ชลน่าน ลุกขึ้นใช้สิทธิ์พาดพิงว่าอาจจะเป็นเข้าใจผิด ไม่มีเจตนากล่าวหาให้ร้ายคนที่เข้ามาเป็นองค์ประชุม แต่เป็นการใช้สิทธิ์ตามเสียงข้างน้อย อย่าเอาเรื่องการลงมติตามใบสั่งกับการนั่งเป็นองค์ประชุมมารวมกัน สิ่งที่ทำขณะนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดต่อรัฐสภา เป็นญัตติที่เสนอได้โดยจำเป็น การตรวจสอบเพียงเสียบบัตร เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ขอร่วมสังฆกรรมเป็นองค์ประชุม โดยทุกคนขอออกจากห้องประชุม ยกเว้นตนเองคนเดียวที่จะอยู่เนื่องจากเป็นผู้เสนอ


ขณะที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ประท้วงว่า การกล่าวหาลงมติตามใบสั่งจะพูดแบบนี้ไม่ได้ ยืนยันว่าไม่มี และใครก็มาสั่งไม่ได้ พร้อมมองว่าองค์ประชุมไม่ใช่ตัวชี้ขาด อยากให้ดำเนินการตามครรลองของระบบ แต่จะมาพูดว่าคนอื่นเป็นคนเลว และทำตามคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง ถ้าพูดบ้างว่าสั่งมาจากแดนไกล ก็จะดูก้าวร้าว จะมาพูดให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นคนผิดหรือไม่ดีเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ตนเคยพูดว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมีปัญหา แต่วันนี้มาถึงจุดที่ต้องดำเนินการ ก็ต้องดำเนินการต่อไป และผลสุดท้ายจะอยู่ที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้ลงคะแนน
ประธานรัฐสภา ได้กล่าวย้ำว่า แนวที่ปฏิบัติยึดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับเป็นหลัก เข้มงวดในการพิจารณา ถ้าองค์ประชุมไม่ครบก็ต้องปิดประชุม ไม่ทำอะไรที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบองค์ประชุมก็ทำอยู่แล้วก่อนการลงมติ แต่วันนี้ นพ.ชลน่าน เสนอนอกแนวปฏิบัติทั่วไป คือขอให้ตรวจสอบองค์ประชุมก่อนเข้าสู่การพิจารณา จึงขอถามความเห็นที่ประชุมว่าจะเห็นเป็นอย่างไร โดยในเวลา 11.15 น. นายชวน กดออดเรียกสมาชิกเพื่อลงมติว่าจะใช้แนวใด และการพิจารณากฎหมายหลังจากนี้ ถ้าปรากฏว่าตอนตรวจสอบองค์ประชุมไม่ครบ มีเจตนาไม่อยากให้กฎหมายนี้ผ่าน ก็จะปิดประชุมทันที โดยไม่รอเวลา 53 นาที เหมือนคราวที่ผ่านมา ส่วนเรื่องปัญหาองค์ประชุมย้ำมาตลอด เว้นแต่คนที่กดบัตรแทนกัน ที่ได้เห็นแล้วว่าศาลตัดสินลงโทษจำคุก ขอให้สมาชิกระมัดระวัง หลังปิดการแสดงตนอยู่ที่ 376 คน ก่อนที่จะให้ลงมติว่า ผู้ใดเห็นด้วยที่ นพ.ชลน่าน เสนอให้ตรวจสอบองค์ประชุมก่อนเริ่มวาระ ให้กดเห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วย ไม่จำเป็นต้องทำ ให้กดปุ่มไม่เห็นด้วย

ขณะเดียวกัน นพ.ชลน่าน ระบุว่า รู้สึกแปลกใจที่ต้องมีการลงมติ เพราะปกติเมื่อมีการเสนอสภาก็ต้องตรวจสอบองค์ประชุมเท่านั้น เกรงว่าจะคลาดเคลื่อนจากวิธีการที่ปฏิบัติกันมา ซึ่งนายชวน บอกว่า นพ.ชลน่าน นั้นพูดถูกต้อง การขอเสนอนับองค์ประชุมทำได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาญัตติใด เป็นการเสนอก่อนเข้าสู่วาระ จึงต้องขอมติว่าจะปฏิบัติแบบใด โดยหลังปิดการลงมติพบว่า 283 ต่อ 27 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบองค์ประชุม และในเวลา 11.26 น. เข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จะเริ่มจากการพิจารณาจากมาตราที่คณะกรรมาธิการกลับไปแก้ไขมาแล้ว นับแต่มาตรานี้เป็นต้นไป ถ้าองค์ประชุมไม่ครบจะต้องปิดประชุม.

