ก้าวไกล วิเคราะห์ ก.ม.ลูกเลือกตั้งส.ส.อาจไปไม่ถึงวาระ 3 ไม่เชื่อ พปชร.-เพื่อไทย จับมือ ล่มสภา จี้ "บิ๊กตู่" ไขก๊อก เปิดทางนายกฯ คนใหม่ ซัด ดื้อแพ่งออก พ.ร.ก.คนไม่ยอมรับ
วันที่ 9 ส.ค. 65 ที่รัฐสภา มีการประชุมวิปฝ่ายค้าน ที่มีนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานวิปฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อหารือถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 10 ส.ค.
ต่อมาช่วงบ่าย นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ ว่า วันนี้ ประเด็นการพิจารณากฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. มติ วิปฝ่ายค้านยังเหมือนเดิม เคารพการตัดสินใจทุกพรรค ทั้งการร่วมเข้าประชุม การแสดงตนและการลงมติ ซึ่งในการประชุมวันนี้ แต่ละพรรคได้วิเคราะห์แง่มุม ตีความบทบัญญัติกฎหมาย พูดคุยถึงผลกระทบ ในการลงมติแบบใดแบบหนึ่ง สำหรับก้าวไกลเอง จะเข้าร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุม และจะยืนยันว่า ในมาตรา 21 /1 ที่กมธ.ได้แก้ไข สอดรับกับความในมาตรา 23 ที่ใช้สูตรหาร 500 หากองค์ประชุมรัฐสภาครบ เราจะลงมติไม่เห็นด้วย ถ้าหากพิจารณาไปจนเข้าสู่วาระ 3 เรายังไม่สามารถตอบได้จะลงมติอย่างไร
เมื่อถามว่า แสดงว่ายังไม่ชัดว่า ถ้าถึงวาระ 3 พรรคเพื่อไทย ไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม ทางพรรคก้าวไกล ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำตามเพื่อไทย หรือไม่ นายณัฐวุฒิ ตอบว่า ก้าวไกลเคารพทุกพรรค และก็ไม่สามารถจะไปตอบแทน หรือก้าวล่วงได้ แต่พรรคก้าวไกล ต้องขอดูก่อนว่า การลงมติในรายมาตราเป็นอย่างไร เพราะท้ายที่สุด มันอาจจะไปไม่ถึงวาระ 3 เลยก็ได้
เมื่อถามอีกว่า มีข่าว พปชร.และเพื่อไทย ร่วมมือกันทำรัฐสภาล่ม ในวันที่ 10 ส.ค. เพราะอยากได้สูตร หาร 100 ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านวันนี้ได้มีการหารือเรื่องนี้ หรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้หารือพูดคุยในประเด็นนี้ แต่เท่าที่เราทำงานร่วมกันมาโดยตลอด รอบนี้จุดยืนของเพื่อไทย และจุดยืนของก้าวไกล เป็นจุดยืนเดียวกัน คือ การเคารพต่อเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไข เราไม่เห็นประเด็นว่า จะมีการพูดคุยกัน ระหว่างพรรคการเมืองในลักษณะต่อรองหรือจับมือฮั้วกัน
...
เมื่อถามว่าหากสุดท้ายกฎหมายลูก ถูกทำแท้งในวาระ 3 อะไรจะเกิดขึ้น นายณัฐวุฒิ ตอบว่าทุก เส้นทางที่จะเดินไป จำเป็นจะต้องตีความบทบัญญัติของกฎหมายทั้งหมด ในวาระ 3 จำเป็นต้องมีผลการลงมติ ครึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด โดยคะแนนเห็นชอบ ต้องอยู่ที่ 366 เสียง ดังนั้น หากไม่ผ่าน หรือตก ในวาระ 3 จริงๆ แล้วโดยหลักการรัฐบาล จะต้องเสนอร่าง กฎหมายเข้ามาใหม่ แต่จะมีปัญหาทางข้อกฎหมายว่า จะเสนอกฎหมายเข้ามาใหม่ในสมัยประชุมเดียวกันไม่ได้ และถ้าเสนอมาใหม่ในสมัยประชุมหน้า ก็อาจจะไม่ทันเวลา ต้องมาดูช่องทางอื่นว่า มีทางออกอย่างไรโดยเฉพาะเมื่อไปบวกกับการตีความ การดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หากไม่อยากให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ความรับผิดชอบในทางการเมือง ของนายกฯ คือ ลาออกแล้ว ให้มี นายกฯ คนใหม่ขึ้นมาแก้ไขปัญหา ต้องดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเห็นหรือไม่ว่า การลาออกครั้งนี้จะเป็นช่องทางปลดล็อกที่ชอบธรรมในทางกฎหมาย นำไปสู่ช่องทางปลดล็อกกฎหมายลูกให้มีกติการองรับการเลือกตั้งครั้งหน้า
"แต่หากใช้ช่องทางอื่นไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา หรือ การออกพระราชกำหนด มีการตีความทางกฎหมายค่อนข้างมาก ว่า คงไม่สามารถที่จะออกเป็นพระราชกำหนดได้ ซึ่งจะเกิดความยุ่งยาก ทำให้คนไม่เชื่อมั่นในกลไกรองรับการเลือกตั้งครั้งหน้ามากกว่านั่น เป็นเรื่องในอนาคตที่เราต้องมาจับตาดูกัน แต่ว่าปัจจุบันขณะ มาดูกันว่าในการประชุมพรุ่งนี้การหาทางออกตามกลไกรัฐสภาอย่างไร"