อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. ก้าวไกล เปิดข้อมูลทุจริต การก่อสร้างของกองทัพยุค "บิ๊กตู่" ชี้ ล็อกผลผู้ชนะการประมูลชัดเจน โว หลักฐานแน่น สงสัย ผู้รับเหมาเริ่มทำงานก่อนชนะการประมูล นานหลายเดือน

วันที่ 21 ก.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โดย นางอมรัตน์ กล่าวถึงความผิดปกติในการประมูลโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำลายอนุสาวรีย์ที่มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลายโครงการ ภายใต้การดูแลของกองทัพ ที่ชัดเจนว่าเป็นการล็อกผลการประมูลให้กับผู้รับเหมาบางราย



นางอมรัตน์ ชี้ให้เห็นว่า กรณีโครงการรื้อถอนอนุสาวรีย์พระยาพหล และจอมพล ป. ที่กองทัพบกเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการคัดเลือก ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูวเนศ โดยเสนอราคา 1,173,000 บาท จากราคากลาง 1.2 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางเพียง 27,000 บาท โดยโครงการนี้กองทัพบกได้ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาในวันที่ 23 เมษายน 2564 แต่ปรากฏชัดเจนว่าผู้รับเหมาได้เข้าไปทำการรื้อถอนอนุสาวรีย์ก่อนแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 หรือได้เริ่มทำงานก่อนที่จะประกาศตัวผู้ชนะการเสนอราคา ถึง 15 เดือน

รวมทั้งโครงการสร้างแท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 และงานปรับปรุงภูมิทัศน์ ที่จะนำมาแทนที่อนุสาวรีย์พระยาพหลที่เพิ่งทำการรื้อถอนออกไป กรมยุทธโยธาทหารบก เป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการคัดเลือก โดยบริษัท ไอยเรศ จำกัดชนะการคัดเลือก ด้วยการเสนอราคา 59,873,500 บาท จากราคากลาง 59,993,500 บาท โดยโครงการนี้ได้มีการประกาศตัวผู้ชนะการเสนอราคาในวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 และทำการเซ็นสัญญากันในวันที่ 27 สิงหาคม 2564

แต่เมื่อดูจากแผนที่ทางดาวเทียมพบว่ากองทัพได้ให้ผู้รับเหมาเริ่มทำงานไปล่วงหน้าแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 โดยภาพถ่ายทางดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าในช่วงเดือนเมษายน 2564 โครงการที่ว่านี้ได้คืบหน้าไปมาก จนโครงสร้างฐานรากของแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 ใกล้เสร็จสมบูรณ์สามารถมองเห็นได้ชัดจากภาพถ่ายทางดาวเทียม

"ทั้ง 2 กรณีชัดเจนว่าเริ่มการก่อสร้างกันตั้งแต่ยังไม่มีการประกาศราคากลาง ยังไม่มีการประกวดราคา ยังไม่มีการทำสัญญา พูดง่ายๆ กองทัพล็อกผู้รับเหมา แล้วให้เข้าไปทำงานล่วงหน้า"

...

นอกจากโครงการของกองทัพบกแล้ว อมรัตน์ ยังเปิดโครงการก่อสร้างบ้านพักรับรองผู้บัญชาการทหารเรือหลังใหม่ พร้อมรื้อถอนบ้านพักหลังเดิม วงเงิน 65 ล้านบาท อีกด้วย โดยนางอมรัตน์ ชี้ให้เห็นว่า โครงการของกองทัพเรือก็ไม่ต่างกัน เนื่องจากกองทัพเรือ ได้ทำการประกาศราคากลางของโครงการดังกล่าวในวันที่ 15 มีนาคม 2562 ปรากฏว่ามี 3 บริษัทเข้าร่วมยื่นเสนอราคาแข่งขัน โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลงานดังกล่าวในวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และได้ทำการเซ็นสัญญาก่อสร้างในอีก 2 วันถัดมา คือวันที่ 29 พฤษภาคม 2562

แต่เมื่อตรวจสอบภาพถ่ายทางดาวเทียม กลับพบว่า ผู้รับเหมาได้เข้าทำการรื้อถอนบ้านพักเดิมและทำการสร้างใหม่แล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 หรือก็คือผู้รับเหมาได้เข้าทำการสร้างคฤหาสน์หลังใหม่ให้กับผู้บัญชาการกองทัพเรือล่วงหน้า 3 เดือน ก่อนที่จะรู้ผลว่าใครเป็นผู้ชนะการประมูล

นางอมรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “แท้จริงแล้วเวลาที่มีโครงการก่อสร้างในกองทัพนั้น ได้มีการแอบล็อกผู้ชนะการประมูลกันก่อนเรียบร้อยแล้ว แบ่งกันล่วงหน้าว่างานนี้เป็นของใคร งานนั้นเป็นของใคร จากนั้นก็จ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้พวกนายพลไปตามลำดับชั้น แล้วค่อยทำการการประมูลหลอกๆ กันอย่างที่เห็น”