นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ชี้ ดราม่า รถประจำตำแหน่ง “หนึ่งหน่วยงานร้อยพันอธิบดี” จี้ งบประมาณส่วนนี้ ต้องชี้แจงสังคม หลังเกิดกรณี "รถควบคุมสั่งการ" เบนซ์ S 500 ของผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพ
วันที่ 19 ก.ค. รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ เขียนข้อความเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กแสดงความเห็น ดราม่ารถประจำตำแหน่งของข้าราชการระดับสูง โดยระบุว่า
ค่ารถประจำตำแหน่ง แหล่งกอบโกยของขุนนาง ในปัจจุบัน ข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ระดับรองอธิบดี อธิบดี ขึ้นไป จะมีค่าตอบแทนรถประจำตำแหน่งแบบเหมาจ่ายให้เป็นรายเดือนในกรณีที่จะไม่ใช้รถของทางราชการ จะได้รับในอัตราเหมาจ่ายรายเดือนตั้งแต่ 25,400 ไปจนถึง 41,000 บาท ในตอนแรกที่มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นการจ่ายเงินเป็นรายเดือนก็ด้วยเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งก็คือ เพื่อประหยัดงบประมาณของรัฐที่ต้องใช้ไปในการจัดหาและดูแลรถประจำตำแหน่งที่ต้องใช้ไปเป็นจำนวนมาก
ผลสืบเนื่องที่ติดตามมาก็คือ ได้เกิดปรากฏการณ์ “หนึ่งหน่วยงานร้อยพันอธิบดี” หน่วยงานต่างๆ ก็พยายามที่จะเทียบตำแหน่งที่ไม่ใช่อธิบดีอันหมายถึงผู้บังคับบัญชาในระดับกรมให้มีตำแหน่งอธิบดีขึ้น ตุลาการและอัยการ คือหน่วยงานในลักษณะนี้ จะปรากฏตำแหน่งอธิบดีศาล อธิบดีอัยการ โน่นนี่นั่นโน่นมากมายเต็มไปหมด ไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่าเพื่อให้ได้เงินค่าตอบแทนรถประจำตำแหน่งแบบเหมาจ่าย ไม่แน่ใจว่าเฉพาะตุลาการและอัยการ รวมกันแล้วมีข้าราชการระดับอธิบดีกี่ร้อยพันคน
เงินสี่หมื่นบาทกว่าๆ สำหรับชนชั้นนำขุนนางชายขอบนี่มันไม่ใช่จำนวนน้อยนะครับ ลองคิดถึงข้าราชการทั่วไปที่จบปริญญาตรี เงินรายเดือนจำนวนนี้กว่าจะได้มาอาจต้องใช้เวลาทำงานมาไม่น้อยกว่า 20 ปี
...
ในภายหลัง ทางฝ่ายทหารก็รู้สึกว่าควรต้องมีการเทียบตำแหน่งในฝ่ายตนบ้าง จึงได้มีการเรียกร้องซึ่งเหตุผลก็ไม่ได้แตกต่างอะไรออกไป และนำมาสู่การทำให้ พ.อ. พิเศษ ได้ค่ารถประจำตำแหน่ง 25,400 บาท พลตรี 31,800 บาท และพลโทขึ้นไป 41,000 บาท
เหอะๆ ก็ว่ากันว่าปัจจุบัน นายพลในกองทัพมีมากกว่างานอยู่เป็นจำนวนมาก วันดีคืนดีก็มีเงินภาษีประชาชนหล่นใส่กระเป๋าอีกเดือนละหลายหมื่น เป็นทหาร (ระดับสูง) ได้อะไรมากกว่าที่คิดจริงๆ
คำถามสำคัญก็คือ หากเป็นตำแหน่งที่จำเป็นต้องมีการเดินทาง ออกพื้นที่ หรือใช้รถในการประชุมพบปะกับผู้คนหรือหน่วยงาน ก็คงมีความจำเป็นที่ต้องมีการใช้รถประจำตำแหน่ง แต่ขอโทษทีงานหลายงานไม่ได้มีภารกิจในแบบนั้น … หรือถ้าเทียบเคียงแค่ตำแหน่งระดับสูง ถ้าแบบนี้บรรดาศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ซึ่งก็เทียบเคียงได้ในระดับเดียวกันกับชั้นนายพลก็ควรได้รับค่ารถประจำตำแหน่งด้วยมิใช่หรือ แต่แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ไม่ควรได้อย่างแน่นอน เพราะก็ทำงานสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก หากจะทำวิจัยก็มักมีงบประมาณสนับสนุนอยู่แล้ว ก็เหมือนกันกับบรรดาขุนศึก ตุลาการ นั่นแหละ ที่ไม่ควรได้รับเงินจำนวนนี้
เมื่อแรกเริ่มการจ่ายค่าตอบแทนรถประจำตำแหน่งแบบเหมาจ่าย เหตุผลก็เพื่อประหยัดงบประมาณ แต่บัดนี้การเกิดขึ้นของสภาวะ “หนึ่งหน่วยงานร้อยพันอธิบดี” เหตุผลเรื่องการประหยัดงบประมาณยังใช้ได้อยู่จริงหรือ
ตัวเลขงบประมาณเหล่านี้ควรต้องถูกชี้แจงต่อสังคม เพราะทุกบาททุกสตางค์ก็ล้วนแต่ภาษีของประชาชนและภาษีของ “กู” ด้วย การใช้จ่ายเงินแบบอีลุ่ยฉุยแฉกจึงต้องควรถูกตรวจสอบอย่างจริงจังว่ามีเหตุผลและความจำเป็นเพียงพอเพียงใด