“ชัยชนะ” รองเลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์ มอง 11 รมต. แจงอภิปรายไม่ไว้วางใจได้แน่ เชื่อ ไร้ปัญหาแม้พรรคเศรษฐกิจไทยไม่หนุนรัฐบาล ชี้ ผลงานที่ผ่านมาคือคำตอบว่าสมควรให้รัฐบาลบริหารจนครบวาระ
นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในวันนี้ (15 ก.ค. 2565) ถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในวันที่ 19-22 ก.ค. 2565 ว่า ขณะนี้รัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายทั้ง 11 คน โดยเฉพาะรัฐมนตรี 3 คนจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เตรียมความพร้อมและข้อมูลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อตอบข้อกล่าวหาที่ทางฝ่ายค้านเขียนเอาไว้ในญัตติมากพอสมควรแล้ว
ทั้งนี้ จากที่อ่านญัตติ มีความเชื่อมั่นว่ารัฐมนตรีทุกคนสามารถตอบคำถามได้ เพราะในญัตติที่พรรคฝ่ายค้านเขียน เช่น การกล่าวอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บริหารประเทศทำให้ประชาชนในชาติแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายขยายวงกว้างขึ้นมากกว่าเดิมนั้น ต้องย้อนกลับไปว่า พรรคการเมืองใดที่เคยใช้มวลชนมาเป็นเบี้ยทางการเมือง พอสมประโยชน์แล้วก็ปล่อยทิ้งอย่างไม่ไยดี และยังมีความพยายามที่จะปลุกมวลชนเพื่อสนองความต้องการในการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึง ทั้งยังมีกลุ่มการเมืองนอกจากจะแบ่งแยกเป็นประชาชนเป็นคนรุ่นนั้นรุ่นนี้แล้ว ยังเจริญรอยตามโดยการมีมวลชนที่พร้อมจะจัดทัวร์เพื่อให้ลงในพื้นที่ส่วนตัวของบุคคลอื่นๆ ในโลกออนไลน์และออฟไลน์
ส่วนกรณีของ นายจุรินทร์ ที่ระบุว่า ล้มเหลวและไร้ความรู้ความสามารถ ปล่อยให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน จนส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกหย่อมหญ้านั้น หากฝ่ายค้านติดตามการทำงานก็จะพบว่า นายจุรินทร์ ใช้ทั้งไม้นวมและไม้แข็งในการดูแลเรื่องราคาสินค้าตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ล่าสุด น้ำมันปาล์มขวดลดราคาถึง 5 บาท ยังมีผลงานอีกมากมายใต้การบริหารของนายจุรินทร์ ในกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะมีการชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ด้วย
...
“ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่มีรายชื่อนั้น ผมเชื่อมั่นว่าสามารถชี้แจงและใช้โอกาสนี้ในการบอกเล่าผลงานให้ ส.ส.ทั้งสภาฯ และประชาชนทั้งประเทศได้รับทราบ เพราะดูเหมือนว่าผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมานั้น ถูกนักการเมืองบางรายได้บิดเบือนด้วยคำพูดที่เปรียบเสมือนกับเป็นแผ่นเสียงตกร่อง จนทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ดังนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวของบรรดา ส.ส.ในพรรคเล็กๆ ที่มีการเจรจาต่อรองกัน รวมทั้งการที่พรรคเศรษฐกิจไทยมีท่าทีไม่สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ซึ่งอาจจะสร้างความกังวลใจบ้าง แต่ผมเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ เพราะผมเชื่อว่าการทำงานที่ผ่านมาของรัฐบาลก็เป็นคำตอบให้ ส.ส. และประชาชนเห็นแล้วว่าสมควรที่จะให้บริหารประเทศต่อไปจนครบวาระของสภาฯ ในช่วงเดือน มี.ค. 2566 นี้”