นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. นำคณะผู้บริหาร และบุคลากรในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 65 รูป เนื่องในวันอาสาฬหบูชา
วันที่ 13 ก.ค. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 65 รูป เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ประจำปี พ.ศ.2565 โดยมี นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ข้าราชการ บุคลากรสังกัดกรุงเทพมหานคร และประชาชน ร่วมพิธี ณ พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร

วันอาสาฬหบูชา ตรงกับ วันเพ็ญ เดือน 8 ก่อนปุริมพรรษา (ปุริมพรรษาเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ในปีที่ไม่มีอธิกมาสเป็นต้นไป ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) 1 วัน เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในปีแรกที่ทรงตรัสรู้และเพราะผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้เป็นเหตุให้ท่าน พระโกณฑัญญะ ในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค หรือ โสดาปัตติมรรคญาณ คือญาณที่ทำให้สำเร็จเป็นโสดาบัน) ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญา รู้เห็นความจริงว่าสิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไป เป็นธรรมดา แล้วขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกของพระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เมื่อวันนี้ของทุกปีเวียนมาถึงพุทธศาสนิกชนจึงนิยมทำการบูชาเป็นพิเศษ และ พุทธศาสนิกชนในที่บางแห่งยังตั้งชื่อวันอาสาฬหบูชาว่า "วันพระสงฆ์" ก็มี อาสาฬหะ คือ เดือน 8 อาสาฬหบูชา คือ การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 8
...

สำหรับวันอาสาฬหบูชามีความสำคัญ คือ 1.เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา 2.เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรประกาศสัจจธรรมอันเป็นองค์แห่งสัมมาสัมโพธิญาณ 3.เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิขุอุปสัมปทาในวันนั้น และ 4.เป็นวันแรกที่บังเกิดพระสังฆรัตนะสมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ


ทั้งนี้ วันอาสาฬหบูชา เริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช 2501 โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาได้เสนอคณะสังฆมนตรี ให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้น อีกวันหนึ่ง คือ วันธรรมจักร หรือวันอาสาฬหบูชา ด้วยเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรีลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติในเวลาต่อมา โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 ซึ่งในวันอาสาฬหบูชามีการประกอบพิธี แบ่งออกเป็น 3 พิธีคือ 1.พิธีหลวง (พระราชพิธี) 2.พิธีราษฎร์ (พิธีของประชาชนทั่วไป) และ 3.พิธีของพระสงฆ์ (คือพิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจเนื่องในวันสำคัญวันนี้).
