โฆษก กมธ.ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ยัน สมรสเท่าเทียมไม่ได้ถูกปัดทิ้ง มีมติวางกรอบการพิจารณา ทั้ง 4 ร่าง ควบคู่กันไป เพื่อให้แล้วเสร็จแบบคู่ขนาน

วันที่ 9 ก.ค. 2565 น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางซื่อ-ดุสิต ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. … กล่าวถึง แนวทางการดำเนินการของคณะ กมธ. ยืนยันว่า ในชั้นกรรมาธิการ ไม่มีกฎหมายใดที่ผ่านวาระแรกแล้วถูกปัดทิ้ง หลักการกฎหมายทั้ง 4 ร่างเป็นที่ยอมรับจากมติในสภา คณะกรรมาธิการฯ มีหน้าที่พิจารณาอย่างละเอียดและรอบด้าน โดยเรียงลำดับตามรายมาตราทุกฉบับ ขณะนี้ กมธ. มีมติวางกรอบการพิจารณา ทั้ง 4 ร่าง ควบคู่กันไป แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดย พ.ร.บ.คู่ชีวิต พิจารณาทุกวันพุธ และ แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (กฎหมายสมรสเท่าเทียม) พิจารณาทุกวันพฤหัส เพื่อให้แล้วเสร็จทั้ง 2 กลุ่มแบบคู่ขนาน อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการและความหวังของสังคม อันนำไปสู่การพิจารณาของสภาในวาระ 2 และ วาระ 3 ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

น.ส.ธณิกานต์ กล่าวถึง ที่ประชุมคณะกมธ.ฯ ว่า การทำงานในคณะฯ เป็นไปได้ด้วยดี ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ เพื่อให้ร่างกฎหมายออกมาสู่สภาทั้ง 2 แนวทาง อย่างสมบูรณ์และรอบด้านมากที่สุด แนวคิดหลัก คือ การผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมทางกฎหมายแก่คนทุกเพศ และพร้อมขับเคลื่อน 2 แนวกฎหมายนี้ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับบุคคลทุกเพศ และเพื่อให้เกิดสังคมที่ยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง

“หากกฎหมายทั้ง 2 แนวทาง ผ่านมติสภาในวาระ 2 และวาระ 3 สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ไม่ว่าคู่รักชายหญิง หรือคู่รัก LGBTQ จะสามารถเลือกจดทะเบียนคู่ชีวิตหรือคู่สมรสก็ได้ ตามระดับความสัมพันธ์ที่ต้องการ เช่น หากต้องการคบกันในระดับพาร์ตเนอร์ชิป ก็จดทะเบียนคู่ชีวิต หากต้องการคบกันให้ได้สิทธิเหมือนสามีภรรยา ก็จดทะเบียนสมรสได้ โดยมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกันไปตามระดับความสัมพันธ์ตามกฎหมายที่เลือก” น.ส.ธณิกานต์ กล่าวทิ้งท้าย

...