“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” จับมือ “สภาทนายความ” เตรียมขยาย MOU ความร่วมมือให้ความรู้ด้านกฎหมายประชาชน พัฒนาศักยภาพทนายความ ก่อนยื่นมือช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมาย ลดความเหลื่อมล้ำสังคม
วันที่ 7 ก.ค. 2565 ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ พร้อมด้วย นายอนุพร อรุณรัตน์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ นำคณะ เข้าพบหารือกับ พันตำรวจโท กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการฯ

โดยเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา มีประชาชนเข้ามาร้องเรียนโดยตรงต่อผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวนมาก แต่เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีสำนักงานทั่วประเทศจึงได้หารือกับสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ที่มีสภาทนายความแต่ละจังหวัด และสภาทนายความส่วนกลาง เพื่อจะร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมายได้อย่างทั่วถึง และเป็นการทำงานเชิงรุก ซึ่งทางสภาทนายความและผู้ตรวจการแผ่นดินได้เคยทำข้อตกลง MOU การให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชนมาแล้วเมื่อปี 2545 จึงต้องยกร่างความตกลงร่วมมือกันเพิ่มเติมเพื่อจะสามารถให้บริการความช่วยเหลือทางกฎหมายเยียวยาความทุกข์ร้อนของประชาชนจากความไม่เป็นธรรมและความไม่ชอบด้วยกฎหมายให้เกิดความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และเห็นว่าควรใช้ระบบไกล่เกลี่ยมาใช้เพื่อจะเกิดประโยชน์มากกว่าการฟ้องเป็นคดี เพื่อให้เกิดการแก้ไขโดยเร็วไม่ใช้เวลานาน
...

ขณะที่ นายกสภาทนายความ เห็นพ้องตรงกันว่าทั้งสองหน่วยงานควรร่วมมือกันแก้ปัญหาในเชิงรุกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนทางกฎหมายได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม โดยเห็นควรมีการพัฒนา MOU ต่อยอดจากฉบับเดิม ให้ขอบเขตการทำงานร่วมกันมากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทั้งสององค์กรในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ทั้งนี้ทนายความทั่วประเทศปัจจุบันมีอยู่ 84,000 คนและทนายความอาสามีกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ ขณะนี้ได้ให้ทนายความอาสาไปนั่งประจำสถานีตำรวจจำนวน 203 สถานีแล้ว ซึ่งจะต้องของบประมาณจากภาครัฐเพื่อขยายต่อให้ทั่วถึงทั่วประเทศ นอกจากนี้เห็นควรให้พัฒนาศักยภาพทนายความและทนายความอาสาทนายความขอแรงด้านวิชาการการอบรมข้อกฎหมายความรู้เชิงลึก ให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก่อนจะออกไปช่วยเหลือประชาชน
เช่นเดียวกับ นายอนุพร กล่าวว่า ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุในเชิงพัฒนา มากกว่าการเยียวยา การพัฒนาคือการให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้นและให้ประชาชนได้เข้าถึงที่ปรึกษาทางกฎหมายอย่างทั่วถึง เพิ่มช่องทางการให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น เมื่อประชาชนเข้าถึงและรู้กฎหมาย ถือเป็นการป้องกันปัญหาที่ต้นเหตุ และจะทำให้ประเทศพัฒนามากยิ่งขึ้น