"ธนาธร" ประธานคณะก้าวหน้า แถลงปิดแคมเปญ "ปลดล็อกท้องถิ่น" หวังรายชื่อประชาชน ทันพิจารณาสภาชุดนี้ เชื่อ ส.ส.-ส.ว.โหวตรับ เล็งยื่นประธานรัฐสภา 11 ก.ค.นี้
วันที่ 4 ก.ค. 65 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้เชิญชวนเสนอกฎหมาย กล่าวในการแถลงปิดแคมเปญ "ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น" ซึ่งเป็นการณรงค์เข้าชื่อประชาชน เพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ตอนหนึ่งว่า เราเปิดตัวแคมเปญเริ่มรับรายชื่อ เมื่อ 1 เมษายน 2565 และปิดรับรายชื่อ 30 มิถุนายน 2565 เป็นระยะเวลา 90 วัน หรือ 3 เดือน มีรายชื่อที่ส่งมาทั้งหมดในรูปแบบกระดาษและออนไลน์รวมแล้ว 83,815 รายชื่อ โดยเป็นแบบกระดาษ 26,619 รายชื่อ แบบออนไลน์ 57,196 รายชื่อ และเมื่อตรวจสอบแล้วมีรายชื่อที่ไม่ผ่านการตรวจสอบเบื้องต้น 3,043 รายชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่อายุไม่ถึง 18 ปี และบางส่วนกรอกข้อมูลผิด ดังนั้น เหลือรายชื่อผ่านการตรวจเบื้องต้นเตรียมยื่นประธานรัฐสภา 80,772 รายชื่อ โดยมีรายชื่อจากประชาชนทั้ง 77 จังหวัด แสดงให้เห็นว่ามีประชาชนตื่นตัวเรื่องการกระจายอำนาจทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันรณรงค์ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย พรรคก้าวไกลและทีมงานทุกจังหวัด นักวิชาการ ผู้พัฒนาเว็บไซต์การลงชื่อ กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่างๆ นายกท้องถิ่น และที่สำคัญคือขอขอบคุณประชาชนที่ร่วมลงชื่อในครั้งนี้
...
"ตั้งแต่ครั้งเป็นพรรคอนาคตใหม่ เราพูดเสมอว่า จะชนะทางการเมืองได้ต้องปักธงทางความคิด และวิธีชนะทางความคิดได้ก็ต้องรณรงค์อย่างสม่ำเสมอ โดยตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา เราจัดเวทีต่างๆ ถึง 30 จังหวัด ซึ่งยืนยันอีกครั้งว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่ของคณะก้าวหน้าเท่านั้น แต่เป็นของทุกคนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศ อยากเห็นการกระจายอำนาจเกิดขึ้น โดยหลักการสำคัญในข้อเสนอของร่างนี้ มี 5 หลักการ คือ 1.ปลดล็อกอำนาจที่จำกัด ให้บริการสาธารณะพื้นที่เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเงินตรา การมีกองทัพ การต่างประเทศ 2. ปลดล็อกเรื่องความซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่าง อปท. กับส่วนภูมิภาค รวมถึงส่วนกลาง, 3.ปลดล็อกเรื่องงบประมาณ ให้มีการจัดสรรรายได้ใหม่ที่เป็นธรรม โดยส่วนกลางกับท้องถิ่นอยู่ที่ 50 ต่อ 50 เปอร์เซ็นต์, 4.ปลดล็อกการกำกับดูแล ที่ต้องไม่ใช่ส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคมาบังคับบัญชาท้องถิ่น และ 5.ปลดล็อกเรื่องการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน สามารถเสนอการทำประชามติในวาระสำคัญของท้องถิ่น การถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างสภาพลเมืองประชาชนมีอำนาจร่วมตรวจสอบ และการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม" นายธนาธร กล่าว
นายธนาธร กล่าวว่า การกระจายอำนาจ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ เป็นวาระสำคัญระดับชาติ ถ้าทำเรื่องนี้ได้สำเร็จประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะจะทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจเต็ม สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้จริง โดยในสัปดาห์หน้า ในวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคมนี้ เราจะนำรายชื่อไปยื่นสู่รัฐสภา และขั้นตอนจากนั้น เมื่อทางรัฐสภาตรวจสอบเอกสารหลักฐานเสร็จภายใน 45 วันแล้ว รัฐสภาจะทำการเผยแพร่ร่างกฎหมาย และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ก่อนที่ประธานรัฐสภาจะเสนอความเห็นเข้าสู่รัฐสภา และบรรจุวาระเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทันสมัยการประชุมต่อไปในเดือนพฤศจิกายน และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการพิจารณาในสมัยนี้ ขอวิงวอนไปยังประธานรัฐสภาให้บรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณา และขอเรียกร้องไปถึง ส.ส. และ ส.ว. โหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
"พรรคการเมืองหลายพรรคที่ผ่านมา ในการหาเสียงก็มีเรื่องของการกระจายอำนาจ วันนี้โอกาสมาถึงแล้วที่จะแสดงให้เห็นว่า นโยบายกับการกระทำเป็นเรื่องเดียวกัน นอกจากนี้ บรรดา ส.ว.หลายคนก็พูดเรื่องนี้ในการประชุม หลายคนก่อนดำรงตำแหน่งก็เคยรณรงค์ผลักดันการกระจายอำนาจ วันนี้โอกาสมาถึงแล้วว่าสิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำจะเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ เรื่องนี้ไม่มีฟากฝ่ายทางการเมือง การกระจายอำนาจทุกคนพูดมาหลายสิบปีแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคณะก้าวหน้า ไม่ใข่เรื่องของพรรคก้าวไกล แต่เป็นเรื่องอนาคตของคนไทย อนาคตของลูกหลานเรา ทั้งนี้ อยากฝากถึงพี่น้องสื่อมวลชนให้สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรื่องการกระจายอำนาจ มีพื้นที่ปลอดภัยให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือเห็นแตกต่างกันในรายละเอียด ได้มาถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และสุดท้าย อยากฝากถึงประชาชนทุกคน ให้ติดตามวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เมื่อร่างเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา อยากให้ช่วยกันแสดงจุดยืน ช่วยกันพูดถึงเรื่องนี้ในที่สาธารณะ เพื่อทำให้ ส.ส. และ ส.ว.เห็นความสำคัญของเสียงประชาชน" นายธนาธร กล่าว.