“ธรรมนัส” รับ มาตอนท้าย หลังถูกสื่อจับโป๊ะ ไม่มาโหวต ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ย้ำ รมต.ถูกขึ้นเขียงน่าห่วงทุกคน เว้น "บิ๊กป้อม" ไม่รับดีลใครในศึกซักฟอก โต้ “เสรีพิศุทธ์” จะโจมตี ต้องดูข้อเท็จจริง
เมื่อเวลา 12.20 น. วันที่ 16 มิ.ย. 65 ที่รัฐสภา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย แถลงข่าวกรณีตนเองโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ตนเอง และ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย ได้ร่วมลงมติสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แต่ถูกสื่อนำเสนอข่าวจับโป๊ะ เนื่องจากบันทึกการลงคะแนนของ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ปรากฏว่า ไม่พบ ร.อ.ธรรมนัส แสดงตนร่วมลงมติในร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับแต่อย่างใด ว่า วานนี้ (15 มิ.ย.) ตนร่วมประชุมตั้งแต่เช้า โดยเรียก ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย พูดคุยถึงนโยบายในการรับร่างกฎหมายทั้ง 4 ร่าง ซึ่งพรรคมีแนวทางว่าจะเห็นชอบทั้ง 4 ร่าง ซึ่งทุกคนลงคะแนนตามมติพรรค แต่ตนลืมว่าช่วง 15.00 น. ได้นัดผู้แทนภาคพรรค ที่ทำการพรรค ทำให้กลับมาโหวตไม่ทัน แต่ทันโหวตว่าจะเอาร่างรัฐบาลหรือร่างของพรรคก้าวไกล เป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งตนและพรรคก็โหวตไปตามทิศทางที่กำหนด จึงไม่มีประเด็นว่าพรรคไม่เห็นชอบ และมีหลักฐานชัดเจนว่าเมื่อกลับมา ตนโหวตให้ร่างของพรรคก้าวไกลเป็นหลักพิจารณา ตนกลับเข้าทันพอดี มีชื่อปรากฏว่า ไม่เห็นด้วยกับร่าง ครม. เป็นร่างหลัก ดังนั้น สื่อบางสำนักพยายามจับโป๊ะแตก ถือเป็นการเข้าใจผิด

...
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวถึงการยื่นญัตติของฝ่ายค้านเพื่อขอเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า พรรคเศรษฐกิจไทยมีความชัดเจนว่าเราจะดูสาระสำคัญที่ฝ่ายค้านนำเสนอ ถ้าทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง เราไม่สนับสนุนแน่นอน
เมื่อถามว่า ดูจากรายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายใครน่าเป็นห่วงที่สุด ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ทุกคนดูน่าเป็นห่วงหมด ยกเว้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เพราะไม่ได้กำกับกระทรวงไหนเป็นหลัก
เมื่อถามว่า มองว่าการอภิปรายครั้งนี้รัฐบาลจะรอดหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นรัฐมนตรีมาก่อน รู้ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร ก็น่าเป็นห่วง ตนประชุมสภาฯสิ่งที่ห่วงที่สุด คือ การเป็น ส.ส. ท่านคือตัวแทนประชาชน จะทำอะไรให้คิดถึงประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ถ้าเป็น ส.ส.แล้วไม่สามารถทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ แต่ถูกบังคับให้ทำ ครั้งหน้าท่านก็ไม่ได้กลับมา
“ผมเล่นการเมืองมาตั้งแต่ปี 2542 หน้าที่ของนักการเมือง คือ ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ผมไม่เคยเห็นภาพการลงมติที่ต้องได้รับการส่งสัญญาณ ภาพที่ออกมาดูน่าเกลียด เพราะการลงมติเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ที่ต้องยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ไม่ใช่รับฟังคำสั่งอย่างเดียว” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

เมื่อถามถึงการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ตั้งธงแนวทางการโหวต และจะมีการกลับลำเหมือนกับการโหวตลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ในการโหวตวาระแรกเรายังไม่เห็นสาระของงบประมาณ การจะไปคว่ำจึงไม่ใช่ แต่ต้องดูวาระ 2 และวาระ 3 ทั้งนี้ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) จะดูว่างบไหนไม่จำเป็นก็ต้องตัด หากฝืนเราก็ไม่เห็นชอบในวาระ 2 และวาระ 3 แต่ตนไม่ได้ตั้งธงว่า จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ จึงฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า สิ่งสำคัญในการแปรญัตติงบประมาณ คือการดูว่างบใดไม่สำคัญต้องตัดออก หากยังทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อย่าหวังว่าจะผ่านในวาระ 2 และวาระ 3
เมื่อถามว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ติดต่อมาให้ช่วยร่วมโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เราไม่รับดีลกับใคร เราเป็นตัวของตัวเอง
เมื่อสื่อมวลชนพยายามถามย้ำถึงข้อกล่าวหาของนายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ฝ่ายค้านตั้งญัตติไว้นั้นรุนเเรงไปหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ระบุว่า เป็นเรื่องของฝ่ายค้าน ไม่ขอเเสดงความเห็น

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวถึงกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ระบุว่า ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง เขต 4 อย่าเลือกคนมีคดีเป็น ส.ส. ว่า การเลือกตั้งซ่อม เขต 4 ที่ จ.ลำปาง มี 3 พรรค ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นฝ่ายที่ประชาธิปไตย 100% ดังนั้นจึงไม่มีอะไรแล้วแต่ชาวบ้านจะเลือก โดยในช่วงที่ตนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ช่วยเหลือการทำกินและยกระดับคุณภาพชีวิตคนลำปาง ส่วนประเด็นที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แถลงอาจจะเข้าใจคาดเคลื่อน เพราะ กกต.ลงมติว่า มีประเด็นที่บุคคลภายนอกทำความผิด ไม่เกี่ยวกับ นายวัฒนา สิทธิวัง ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจไทย จึงสมควรให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่ตัดสิทธินายวัฒนา ดังนั้นต้องดูสาระสำคัญว่าวินิจฉัยอย่างไร และศาลวินิจฉัยแล้วว่านายวัฒนามิได้เป็นผู้กระทำความผิด การกล่าวโจมตีกันต้องดูข้อเท็จจริง.