"อิสระ" ส.ส.ปชป.ชง ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ เนื้อหา ไม่แบ่งเเยกพลเมืองชั้นสอง-มองคนเท่ากัน ทุกเพศ ไม่ว่า ชาย-ชาย หญิง-หญิง หรือ ชาย-หญิง ต้องมีสิทธิ์เลือกได้

วันที่ 15 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับของ ปชป. อภิปรายชี้แจงหลักการ และเหตุผล ว่า แม้ชื่อที่ปกของเราจะเหมือน ครม. แต่เนื้อหา หลักคิดต่างกันสิ้นเชิง ร่าง ครม.โดยกระทรวงยุติธรรม มองว่า คู่สมรสจะต้องเป็นระหว่าง ชายหญิง เท่านั้น เพราะเป็นหลักธรรมชาติ การแต่งงานของเพศอื่นแล้วถูกมองเป็นเพียงคู่ชีวิต มองว่าเขาไม่ปกติ ไม่แปลกว่า ทำไมเพื่อนๆ LGBTQ+ ถึงต่อต้าน เพราะมองเขาเป็นพลเมืองชั้นสอง ไปเที่ยวกำหนดว่า ชาย-หญิง ต้องเป็นคู่สมรส ชาย-ชาย ต้องเป็นคู่ชีวิต แต่ถ้าทอม จะคบกับเกย์ ก็ไปบังคับให้เป็นคู่สมรส กระทรวงยุติธรรมเป็นใครกันครับ ที่จะมีสิทธิ์มากำหนดรูปแบบชีวิตของพวกเขา แต่ปชป. มองว่า กฎหมายที่ดีต้องเปลี่ยนทันโลก ศึกษาผลกระทบรอบด้าน หากเกี่ยวพันกฎหมายอื่นหลายฉบับ คู่ชีวิตสำหรับเรา ต้องเปิดให้คนทุกเพศ ไม่ใช่เฉพาะเพศเดียวกัน กระทรวงยุติธรรม อาจมองว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือ ของขวัญสำหรับพลเมืองชั้นสอง สำหรับคนเพศเดียวกัน แต่ร่างปชป. คือ ทางเลือกของทุกคู่ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชาย-ชาย หญิง-หญิง รวมทั้ง ชาย-หญิง ที่ต้องการมีสิทธิ์เลือกระดับความสัมพันธ์ของตนเอง ซึ่ง มาตรา 3 ร่างปชป. ต่างจาก มาตรา 3 ร่างครม.อย่างสิ้นเชิง คำนิยามคู่ชีวิตของ ครม.เขียนว่า “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด ซึ่งได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตามพ.ร.บ.นี้ ส่วน ของปชป.เราให้นิยามคำว่า “คู่ชีวิต” คือ บุคคลสองคน ไม่ว่าเพศใดจะเพศเดียวกันหรือต่างเพศกันสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ตาม พ.ร.บ.นี้

...

นายอิสระ กล่าวว่า อยากเสนอให้ใช้ร่างของ ปชป.เป็นร่างหลัก ด้วยเหตุผลสำคัญ อาทิ มิติการพัฒนาการของความสัมพันธ์ และพัฒนาครอบครัว ธรรมชาติของการสร้างครอบครัวที่ดี ไม่ได้เกิดจากเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น สาเหตุที่เราต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ถูกนำมาใช้ก่อน ก็เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการทดลองผ่านการใช้งานจริง ศึกษาจากของจริง ไม่ใช่เพียงศึกษาผ่านห้องทำงานของกฤษฎีกา เราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการซื้อเวลาของผู้มีอำนาจ ที่มักจะบอกว่า จะขอกลับศึกษาผลกระทบก่อน เปลี่ยนมาเป็น การประกาศใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เป็นเหมือนก้าวย่างสำคัญของการยอมรับเรื่องนี้ แล้วเราจะได้รู้ว่า ผลกระทบที่หลายฝ่ายพูดกันว่ามันมี มันมีอย่างไร แล้วจะแก้ที่ตรงไหน เพื่อจะนำไปสู่การพิจารณาสมรสเท่าเทียมอย่างจริงจังและจริงใจต่อไป ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับที่ตน และปชป.เสนอนั้น เป็นกฎหมายที่มองคนเท่ากันและให้โอกาสแก่ทุกคน ทุกเพศ สามารถเลือกระดับความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับชีวิตตัวเองได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นความหวังของทุกคู่ชีวิต

นายอิสระ กล่าวว่า ถามว่าแล้วทำไมต้องมี พ.ร.บ. คู่ชีวิต ทำไมไม่ให้สมรสเท่าเทียมเลย ก็เพราะประเทศไทยมีความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา ตนไม่ได้เป็นการเอาศาสนามาอ้าง แต่ขอพูดให้เห็นภาพชัดๆ ว่า ที่บอกว่าแตกต่างทางศาสนาสำหรับ 3 ศาสนาหลัก พุทธ คริสต์ อิสลาม ในศาสนาพุทธ พิธีสมรสทางศาสนาจัดทำขึ้นเพื่อความสิริมงคล แต่ไม่ใช่ภาคบังคับ ขณะที่ศาสนาคริสต์ กับอิสลาม การสมรสเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการประกอบพิธีทางศาสนา ดังนั้น การแก้ไขเฉพาะประมวลแพ่งและพาณิชย์ให้เกิดการสมรสเท่าเทียมอย่างเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็ คือ การบังคับให้ผู้นำทางศาสนา เขาจำเป็นที่จะต้องประกอบพิธีสมรสให้กับคนทุกเพศ จริงอยู่ว่าเป็นสิทธิของคนเหล่านั้น แต่ก็เป็นการบังคับให้ผู้นำทางศาสนา ทำสิ่งที่ผิดกับหลักคำสอนของศาสนาของเขา แล้วสิ่งที่ตนพูด ตนไม่ได้พูดเองแต่มาจากการรับฟังผู้นำทางศาสนา โดยศาสนิกชน ทั้งสองศาสนานี้ ก็เป็นคนไทย เสียงเขาก็ควรจะมีความหมายด้วย